พระพุทธรัตนสราบูรพาสิริ

 พระพุทธรัตนสราบูรพาสิริ

 

                    หลวงพ่อพระโลกธาตุหยกขาวนี้ ได้อธิษฐานจิตสร้างครั้งแรกให้เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสระแก้ว จึงได้ตั้งนามท่านว่า "พระพุทธรัตนสราบูรพาสิริ" มีความหมายว่า "พระพุทธรูปอันเป็นมิ่งขวัญแห่งเบื้องบูรพาทิศของชาวสระแก้ว" ไม่ให้เป็นสมบัติของใคร แต่ให้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาและมหาชนทุกคน


                   บุคคลที่ช่วยให้การสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เกิดขึ้นได้ ด้วยบารมีของท่านผู้ว่าฯศานิตย์ นาคสุขศรี ที่เป็นกำลังใจในการเริ่มต้นจากแค่ที่คิดอยู่ในใจมา ๑๓ ปีให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าไม่มีผู้ว่าฯศานิตย์ ก็จะเกิดสิ่งนี้ไม่ได้


                  บุคคลที่บากบั่นพาครอบครัวไปดำเนินการสั่งจองการแกะสลักจนเป็นทางการถึงประเทศพม่าด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวคือนางวรนุช ปัจฉิมะศิริ ท่านผู้นี้ได้สนองเจตนารมณ์ในการซื้อที่ดินบริเวณนี้เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน และมีความเข้มแข็งมากในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ


                 สามีของนางวรนุช เป็นข้าราชบริพารที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง ต.จ.ว.คือชั้น "ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ"จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ถือตัวมานั่งคุกเข่าอยู่กับพื้นดินเพื่อให้กำลังใจภรรยาในการปรึกษาหารือเพื่อจะสร้างพระพุทธรูปให้สำเร็จ


                   ในตอนเริ่มขึ้นคัตเอาท์ที่หน้าตลาดเมืองแก้ว ได้ประกาศไว้ว่า สร้างพระพุทธรูปองค์นี้เนื่องในโวรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ ๘๔ พรรษา และในโอกาสที่มีการสถาปนาจังหวัดสระแก้วครบ ๑๘ ปี


                  การผูกผ้าประจำปี ๒๕๕๙ เนื่องในงานสักการะและเทศกาลวิสาขบูชา ได้ใช้ สีเขียว สีขาว และสีชมพ


                    สีเขียว เพื่อให้เกิดความสดชื่น ร่มเย็น กล้าเผชิญกับความจริง


                    สีขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา


                    สีชมพู เพื่อให้ทุกคนมีความรักความเมตตา มีความสดใสเบิกบาน มีความหวังและมีความสุข


                    นี้คือความหมายแห่งผ้าผูกเนื่องในงานสักการะ ประจำปี ๒๕๕๙    (๑๕ พ.ค. ๕๙)

 

 

                                                      บันได สวนสวรรค์ และสระโบกขรณี

 


                    เช้าวันนี้อากาศดีมาก เนื่องจากมีฝนปรอยตอนกลางคืน เป็นการพักผ่อนที่สดชื่นในรอบ ๕ เดือน อารมณ์กำลังดีแบบนี้ ก็อยากเล่าอะไรให้ทุกท่านได้ฟังต่อ หากไม่เล่าไว้ ก็ไม่มีใครรู้ และจะสูญหายไปกับกาลเวลา


                    คงมีคนสงสัยว่า ทางวัดมีทุนทรัพย์มาจากไหน จึงสร้างสวนและจัดภูมิทัศน์รอบบริเวณหลวงพ่อหยกขาวได้ขนาดนี้

 

                      ตอบว่า ตัวหลวงพ่อนั้นไม่มีทรัพย์สินอะไร มีบาตรใบเดียวเมื่อตอนมาตั้งสำนักแบบไหน ก็ยังคงมีบาตรใบเดียวตามเดิม ถ้าเขาไม่เลี้ยงก็คงอดตาย เพียงแต่ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนจากการเดินบิณฑบาตเหยียบกองขี้วัวขี้ควายตามที่อธิษฐานธุดงค์ข้อบิณฑบาตเป็นวัตรครบ ๑๐ ปี มาตอนนี้ได้บิณฑบาตที่ศาลาแทนเท่านั้น


                     ตอนประดิษฐานหลวงพ่อหยกขาวและจัดสมโภชเสร็จสิ้นลงแล้ว หลังจากนั้นสถานที่แห่งนี้เหมือนจะร้างอยู่กลางป่า ต่อมานางจุฑามาศได้ปรึกษากับนางสาวจุฑารัตน์ว่าอยากจะสร้างหอระฆังถวาย มีงบประมาณสามแสนบาท


                    นางสาวจุฑารัตน์ได้แนะนำว่า ตอนนี้ที่พระหยกกองดินกำลังพังทลาย หากเป็นไปได้อยากให้ทำฐานดินพระหยกให้มั่นคงแข็งแรงน่าจะดีกว่า เมื่อเธอไปปรึกษาสามี ทั้งคู่จึงตกลงจะสร้างฐานพระ ในที่สุดจากที่คิดว่าแค่สามแสนบาท กลายเป็นหนึ่งล้านกว่าบาท นายวีรวัฒน์และนางจุฑามาศ วัฒนเสถียรพงษ์ จึงได้ชื่อว่าเป็นเจ้าภาพสร้างฐานพระหยกที่เป็นสวนดอกไม้เป็นชั้นๆอย่างที่เห็น


                    ส่วนบันไดขึ้นไปกราบพระหยกที่เห็นอยู่นี้ สร้างครั้งแรกหมดเงินไปแปดหมื่น แต่ขั้นบันได้แต่ละขั้นสูงเกินไป จึงได้ทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ในราคา ๑๒๐,๐๐๐ บาท จึงสำเร็จอย่างที่เห็น คนที่สร้างบันไดคือนางสาวจุฑารัตน์ เจริญการและบรรดาญาติพี่น้อง


                  ต่อมานายอรรนพ ชื่นสมถ้อยได้มาสร้างสระน้ำหน้าพระหยก ใช้ได้ไปสักพักสระก็รั่วไม่อาจแก้ไขด้วยวิธีใดได้


                  นางสาวชื่นจิต ชีววิริยะนนท์ ได้มาปฏิบัติธรรมครั้งแรกในเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ได้ทราบเรื่องราว จึงขอรับเป็นเจ้าภาพโดยความสนับสนุนของนายบุญยิน จินาจิ้นและนางขวัญใจ ชีววิริยะนนท์พร้อมทั้งพี่น้อง หมดเงินไปประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาท


                 ส่วนสนามหญ้าและสวนชั้นล่างโดยรอบนั้น เกิดขึ้นจากศรัทธาของหลายท่านด้วยกันคือ นางภาริณี ตรีสุวรรณ นางศรีทอง จันทรา นายสมหวัง ทองขาว นายวีรวัฒน์ นางจุฑามาศ วัฒนเสถียรพงษ์ นางสาวชื่นจิต ชีววิริยะนนท์ และคนอื่นๆ ร่วมกันสร้างสรรค์เนรมิตขึ้นมา


                 สำหรับห้องสุขา ได้สร้างขึ้นรองรับพิธีสมโภชพอใช้สอยได้ ต่อมานายศักดิ์ดา เวียงจันทร์ ได้เป็นเจ้าภาพในการปูกระเบื้อง ตกแต่งภายในภายนอก และปรับปรุงให้เรียบร้อยสวยงามมาจนถึงปัจจุบัน

 
                 หลวงพ่อนั้นไม่มีสมบัติอะไร มีแต่บาตรใบเดียว ส่วนการที่สวนพระหยกและภูมิทัศน์โดยรอบมีความสวยงามนั้น ก็เพราะเจ้าภาพทั้งหลายและทุกคนช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยดวงใจที่ทำเพื่อพระพุทธศาสนาและผู้คนโดยทั่วไป ด้วยประการฉะนี้แลฯ  (๑๖ พ.ค. ๕๙)

 

 

                                                                 เกร็ดเหตุการณ์จนถึงวันอัญเชิญ

                     
                     

                    การสร้างความดีมีไม่บ่อยครั้ง หากพลาดไป โอกาสเช่นนั้นก็อาจไม่มีอีก ดังนั้นท่านจึงสอนว่า เมื่อดำริอยากสร้างกุศล อยากทำความดี ต้องรีบทำอย่าชักช้า มิฉะนั้นมารจะหลอกล่อให้ไขว้เขวหรือล้มเลิกความตั้งใจได้โดยง่าย


                     ต่อไปนี้ก็จะขอเล่านิทาน "เกร็ดหลวงพ่อหยกขาว"ต่อไป หวังว่าทุกคนจะยังไม่เบื่อ หากใครเบื่อก็ขอให้ทนฟังไปอีกหน่อย อาจทำให้ได้ข้อคิดบางอย่าง


                     ย้อนกลับไปตอนที่มอบหมายให้นางวรนุชกับสามีเดินทางไปประเทศพม่าจนกระทั่งทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว ก็นั่งสมาธิทบทวนดูว่า จะมีอุปสรรคข้างหน้าหรือไม่ ก็รู้สึกว่า จะมีอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว มิฉะนั้นคงทำการไม่สำเร็จ จึงมอบหมายภาระให้ภิกษุณีวรนิฏฐิตาประสานงานกับนางวรนุชแทน ส่วนตัวเองเริ่มบำเพ็ญอย่างหนัก งดวาจา งดรับแขก งดการคลุกคลีทั้งปวง เพราะมิฉะนั้นบารมีอาจจะไม่พอ


                     บุคคลที่เข้ามารับหน้าที่ช่วยงานในการสร้างแท่นประดิษฐานในเวลานั้นคือนายวัลลภ ประวัติวงศ์ กับนายอัศวิน ดวงดี แม้แต่การออกไปวัดที่เพื่อกำหนดพิกัดในการขุดเจาะเสาเข็มวางรากฐานก็ให้ภิกษุณีวรนิฏฐิตากับนางธนวรรณ ศรีหะจันทร์เป็นคนไปดำเนินการ จนกระทั่งตอกเสาเข็มได้ ๒๗ ต้น และสร้างแท่นได้สำเร็จทันเวลา


                    พอถึงขั้นตอนอัญเชิญองค์พระจากย่างกุ้งมาสู่ประเทศไทย ยิ่งเป็นสภาวะที่มืดแปดด้านในเรื่องค่าใช้จ่าย จนกระทั่งนางวีณา สื่อศิริธร ได้เอ่ยปากให้ยืมเงินเป็นล้านซึ่งเป็นเงินเก็บของเธอไปก่อน พอเสร็จงานกฐินจึงค่อยคืน จึงสามารถนำไปจ่ายค่าเรือและค่าขนส่งสำเร็จตามความมุ่งหมาย (แต่สุดท้ายเพิ่งได้คืนเมื่อ ๑๒ พ.ย. ๕๕ หลังจากนั้นสองปีเศษ)


                  พอวันที่เรือจะเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ปรากฏว่าจากที่ได้วางแผนงานตามที่มีการประชุมไว้ ทุกอย่างมิได้เป็นไปตามแผนแต่อย่างใด การที่จะจัดแต่งดอกไม้และผูกผ้ารถเทรลเลอร์ให้สมเกียรติต้องมีอันล้มเลิกกลางคัน


                  นางสาวจุฑารัตน์ เจริญการ ซึ่งขณะนั้นยังทำงานเป็นผู้จัดการร้านเพชรแม่ทองใบ เมื่อทราบข่าว จึงพาคนไปผูกผ้าและตกแต่งดอกไม้กลางแดดที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้การต้อนรับองค์พระที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมีความสมพระเกียรติตามที่ตั้งใจไว้ เป็นการต้อนรับเอาสิริมงคลมาสู่จังหวัดมาตุภูมิ


                พอทำพิธีต้อนรับแล้วสรงน้ำองค์ท่าน ได้เกิดพระอาทิตย์ทรงกลดและมีฝนโปรยลงมาครู่หนึ่งเป็นน้ำมนต์ เจ้าหน้าที่ทั้งท่าเรือแหลมฉบังนั่งสังเกตการณ์ในวงจรปิด เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงได้พากันออกจากห้องแอร์ของสำนักงานมากราบไหว้กันแทบทุกคน นับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ขึ้นฝั่ง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง


                นายอรรนพ ชื่นสมถ้อยและคณะได้ไปทำการต้อนรับที่ท่าเรือด้วย และได้รับเป็นเจ้าภาพค่ารถเทรลเลอร์จากท่าเรือมาจนถึงจุดที่ประดิษฐาน


                นายสุรพล ตังคะประเสริฐ เป็นเจ้าภาพค่าใช้จ่ายรถเครนในการยกขึ้นแท่นประดิษฐาน (และต่อมาได้เป็นเจ้าภาพพิธีพราหมณ์ในพิธีการสมโภชใหญ่ในเดือนถัดมา)


                 พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ได้แต่งเครื่องแบบปกติขาวเต็มยศ เสมือนเป็นตัวแทนทุกฝ่ายเพื่อเริ่มต้นขบวนแห่ต้อนรับแต่เช้าที่ศาลเจ้าพ่อพระปรง จุดเริ่มต้นของจังหวัดสระแก้ว


                 นายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้นำขบวนแห่ต้อนรับอัญเชิญองค์พระเข้าสู่ซอยเทศบาล ๗ ขึ้นสู่แท่นประดิษฐานท่ามกลางประชาชนทุกหมู่เหล่า ในวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓

 

                  หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับลงวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้เสนอข่าวการอัญเชิญหลวงพ่อหยกขาวขึ้นแท่นประดิษฐานในคราวนั้นด้วย

 

                 นี้คือเหตุการณ์ซึ่งสรุปโดยย่อเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว

 

                                                                                          คุรุอตีศะ
                                                                                ๑๖  พฤษภาคม  ๒๕๕๙