ชีวิตหลังความตาย

 ชีวิตหลังความตาย

 

              ความมุ่งหมายที่แท้จริงแต่เดิมมา ที่ท่านให้มีพิธีจัดงานศพและมีการสวดพระอภิธรรมนั้น ไม่ใช่เพื่อผู้ที่ตายไป แต่เพื่อเป็นการปลอบใจให้แก่คนที่อยู่ในโลกนี้ว่าไม่ควรร้องไห้เศร้าโศก พร้อมกันนั้นก็ให้คำตอบแก่ทุกคนว่าคนเราตายแล้วไปไหน ชีวิตหลังความตายจะดีร้ายประการใด และคำตอบเหล่านี้มีอยู่ในพระอภิธรรมปิฎก เพียงแต่ท่านนำมาสวดเป็นหัวข้อหมวดหมู่สั้นๆเพื่อเป็นพิธีกรรมในทางศาสนา


              จริงๆแล้วชาวพุทธนั้นไม่มีปัญหาว่าตายแล้วไปไหน  เพราะคำตอบเหล่านี้มีอยู่อย่างพร้อมมูลทั้งในพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก

 
              แต่เหตุที่คนในยุคหลังเช่นพวกเรามีปัญหาในเรื่องนี้มาก เป็นเพราะเราไม่เคยได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้านอกจากใส่ซองทำบุญ ใส่ซองกฐินผ้าป่าแล้วก็ถือว่าเราคือชาวพุทธแล้ว ซึ่งต่างจากศาสนาอื่นที่เขาจะศึกษาพระคัมภีร์เหมือนกับนักเรียนไปโรงเรียนทุกวัน  ดังนั้นผู้ที่นับถือศาสนาอื่นจึงมีความมั่นใจและมีความเข้มแข็งมาก 

 

             ต่างจากชาวพุทธตามทะเบียนทั่วไป ที่ไม่เคยรู้แม้แต่เรื่องราวของพระนางเขมาซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร ที่มีประวัติอันงดงามน่ายกย่องอย่างมาก จากที่พระนางเคยเป็นคนหลงในความสวยและรูปร่างของตัวเอง ต่อมาได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์หมดสิ้นกิเลสออกผนวชประกาศธรรม จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงตั้งเป็นอัครสาวิกาเอตทัคคะผู้เลิศด้วยปัญญาในที่สุด


                 คนเราเมื่อตายไปแล้วไม่ได้ “พักผ่อนในความสงบ”อย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่สมัยนี้เข้าใจ  แต่เมื่อดวงจิตละออกจากกายเนื้อไป  ดวงจิตจะเข้าสู่ภพภูมิใหม่ตามคุณภาพของดวงจิตที่บุคคลนั้นมีอยู่ตั้งแต่สมัยยังเป็นมนุษย์  กรรมดีและกรรมชั่วที่บุคคลนั้นได้ทำไว้จะเป็นตัวตัดสินอย่างยุติธรรมว่าเขาจะมีสภาพอย่างไรในโลกหน้าหรือชีวิตหลังความตาย กฎนี้เป็นกฎธรรมชาติเหมือนกฎทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง

 

                 กฎแห่งกรรมนี้ พระพุทธองค์หลังจากทรงตรัสรู้ได้ทรงค้นพบความจริงข้อนี้  คล้ายๆไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทำนองนั้น หรือองค์การเซิร์นค้นพบปฏิสสารในยุคปัจจุบันเมื่อไม่นานมานี้


                การที่บุคคลนั้นจะไปเกิดที่ใดก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของจิตช่วงสุดท้ายก่อนมรณกรรมว่าดีหรือร้าย  หากบุคคลนั้นประกอบกุศลกรรมไว้มากจนดวงจิตเคยชินกับสะอาด สว่าง สงบ ดวงจิตก็จะไปสู่สุคติ ซึ่งหมายถึงว่า หากบุคคลนั้นไม่ได้ไปสวรรค์ก็จะต้องกลับมาเข้าครรภ์เพื่อเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ นี้คือสุคติภูมิ


               สิ่งเหล่านี้ครูบาอาจารย์จะสอนได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีจิตใจประณีตละเอียดอ่อนมีหิริโอตตัปปะเพียงพอที่จะรับคำสอนเรื่องภพภูมิเช่นนี้ได้ สำหรับบุคคลที่ยังหมกมุ่นในเรื่องในการทำมาหากินหรือใจยังหมกมุ่นในกามารมณ์มากเกินไป ท่านจะห้ามสอนความรู้ในเรื่องเหล่านี้ 

 

              จนกว่าจะพิจารณาแล้วมองเห้นว่า บุคคลนั้นมีศรัทธามีความเลื่อมใส สนใจการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา มีความละเอียดอ่อนของดวงจิตถึงขั้นที่พอจะให้ความรู้ในเรื่องที่ลึกซึ้งเช่นนี้ได้ ท่านจึงจะอนุเคราะห์บอกหรือสอนไปตามเหตุปัจจัย เหมือนเด็กนักเรียนต้องเรียนจบ ม.๓ มีพื้นฐานเสียก่อนจึงจะสอนหลักสูตรมัธยมปลาย พระอภิธรรมปิฎกก็ละเอียดลึกซึ้งสุขุมลุ่มลึกยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจเช่นนั้น


               บางอย่างก็เหมือนการเอาความรู้ระดับปริญญาโทไปเล่าให้เด็ก ป. ๖ ฟัง นอกจากเขาจะไม่เชื่อแล้ว ยังอาจลบหลู่ดูหมิ่นเป็นโทษแก่เขาได้ สมัยก่อนสิ่งเหล่านี้จะสอนได้ก็แต่บุคคลที่เข้ามาบวชในศาสนามีกายหลีกออกห่างจากกามคุณ  จิตมีความประณีตและมีศรัทธาเพียงพอแล้วท่านจึงจะสอน  บางคนมีจิตหยาบเกินไปท่านก็จะสอนอย่างอื่นไม่พูดเรื่องนี้ บางรูปนั้นบวชตั้ง ๑๐ ปีก็ยังสอนสิ่งนี้ให้ไม่ได้ก็มี


                    พึงจำไว้เป็นความรู้พื้นฐานว่า ชีวิตหลังความตาย ไม่ได้ตัดสินกันที่ทรัพย์สิน อำนาจ เกียรติยศ หรือความยิ่งใหญ่ในทางโลก สิ่งเหล่านั้นจะมีความหมายอย่างมากมายเฉพาะตอนที่เราทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เท่านั้น  นี้คือสัมมาทิฐิที่จะทำให้บุคคลแต่ละคนไม่หลงใหลประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในวัย


                   หลังจากร่างกายแตกดับทำลาย กายทิพย์ได้ละจากกายเนื้อไป  คุณภาพของจิตใจที่หยาบประณีตดีเลวเพียงใด  จะเป็นตัวกำหนดว่าบุคคลนั้นจะไปเกิดในภพภูมิใดเมื่อตายไปแล้ว  ซึ่งในศาสนาอื่นเรียกว่าพระเจ้า แต่สำหรับสาวกของพระพุทธเจ้าเช่นพวกเรา เรียกกฎแห่งเหตุและผลเช่นนี้ว่า “กฎแห่งกรรม”


                   ชีวิตหลังความตาย เงินทองหรือเกียรติยศจะไม่มีความหมาย มีแต่บุญกุศลที่บุคคลนั้นทำไว้สมัยยังเป็นมนุษย์ ที่จะเป็นเสบียงเป็นที่พึ่งของตัวเองอย่างแท้จริงหลังจากละโลกนี้ไปแล้ว


                   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า “เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติย่อมเป็นที่หวัง หากบุคคลนั้นมีสติประคองใจ จิตมีความผ่องใสมีพลัง บุคคลนั้นย่อมไปสู่สุคติ ภพภูมิที่ดีย่อมเป็นอันหวังได้แน่นอน”


                  การที่ท่านสอนให้เราหมั่นบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา หรือดำเนินชีวิตตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เพื่อพัฒนาดวงจิตให้ใสสะอาด อยู่ครรลองของกุศลไว้เสมอ เป็นการสร้างที่พึ่งที่แท้จริงของตนเองไว้  เหมือนการยอมเหนื่อยยากในตอนต้น อดทนเก็บเงินบากบั่นสร้างบ้านจนสำเร็จได้เป็นหลัง


                    จิตที่มีความคุ้นเคยในสิ่งที่เป็นกุศลและความดีงามที่ทำไว้เสมอบ่อยๆเนืองๆ จะมีผลอย่างหนึ่งตามหลักพระอภิธรรม คือทำให้ “อาสันนกรรม”คือกรรมใกล้ตาย เกิดเป็นคตินิมิตฝ่ายดีรองรับดวงจิตในขณะนั้นทำให้บุคคลที่ใกล้ตายไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมาน  คุณภาพของดวงจิตที่ฝึกไว้ดีแล้วสมัยยังมีชีวิตอยู่ จะมีอานุภาพทำให้สามารถประคองสตินึกถึงบุญกุศลได้ทันการก่อนตาย จึงทำให้ดวงจิตไปสู่สุคติ


                    บุคคลใดที่ฝึกสติและสร้างกุศลกรรมไว้ดีแล้ว เมื่อความตายนั้นมาถึง ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยตาย ก็ย่อมเป็นอันหวังได้ว่าดวงจิตเมื่อละทิ้งกายเนื้อนี้ไปแล้ว  จะไปสู่สวรรค์   หรือได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง เพื่อสร้างบารมีต่อจนกว่าจะบรรลุพระนิพพานในที่สุด

 

 

                                                                                คุรุอตีศะ
                                                                       ๓๑  มีนาคม  ๒๕๕๙