รัฏฐปาลสูตร

รัฏฐปาลสูตร

 

                   เราเห็นมนุษย์ทั้งหลายในโลก ที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์  แล้วย่อมไม่ให้ ด้วยความหลง  โลภแล้วย่อมทำการสั่งสมทรัพย์  และยังปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป  พระราชาทรงแผ่อำนาจชำนะตลอดแผ่นดิน  ทรงครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด  มิได้ทรงรู้จักอิ่มเพียงฝั่งสมุทรข้างนี้  ยังทรงปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก  พระราชาและมนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมาก  ยังไม่สิ้นความทะเยอทะยาน  ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้พร่องอยู่ ละร่างกายไปแท้  ความอิ่มด้วยกามย่อมไม่มีในโลกเลย


                 อนึ่ง  ญาติทั้งหลายพากันสยายผมคร่ำครวญถึงผู้นั้น  พากันกล่าวว่าได้ตายแล้วหนอ  พวกญาตินำเอาผู้นั้นคลุมด้วยผ้ายกขึ้นวางไว้บนเชิงตะกอน  แต่นั้นก็เผากัน  ผู้นั้น เมื่อกำลังถูกเผาอยู่ ถูกแทงอยู่ด้วยหลาวมีแต่ผ้าผืนเดียว ละโภคทรัพย์ไป  ญาติก็ดี มิตรก็ดี หรือสหายทั้งหลาย เป็นที่ต้านทานของบุคคลผู้จะตายไม่มี  ทายาททั้งหลายก็ขนเอาทรัพย์ของผู้นั้นไป  ส่วนสัตว์ย่อมไปตามกรรมที่ทำไว้  ทรัพย์อะไรๆย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้  บุตร ภรรยา ทรัพย์และแว่นแคว้นก็เช่นนั้น


                  บุคคลย่อมไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์  และย่อมไม่กำจัดชราได้ด้วยทรัพย์  นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ ว่าน้อยนัก ว่าไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา


                  ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ย่อมกระทบผัสสะ  ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็กระทบผัสสะเหมือนกัน  แต่คนพาล ย่อมนอนหวาดอยู่ เพราะความที่ตนเป็นพาล  ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว  ย่อมไม่หวั่นไหว  เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์  ปัญญาเป็นเหตุถึงที่สุดในโลกนี้ได้


                  คนเป็นอันมากทำบาปกรรมเพราะความหลงในภพน้อยภพใหญ่  เพราะไม่มีปัญญาเครื่องให้ถึงที่สุด  สัตว์ที่ถึงการท่องเที่ยวไปมา ย่อมเข้าถึงครรภ์บ้าง ปรโลกบ้าง  ผู้อื่นนอกจากผู้มีปัญญานั้น  ย่อมเชื่อได้ว่าจะเข้าถึงครรภ์และปรโลก


                  หมู่สัตว์ผู้มีบาปธรรม  ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเองในโลกหน้า  เปรียบเสมือนโจรผู้มีความผิด ถูกจับเพราะโจรกรรม มีตัดช่องเป็นต้น ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง ฉะนั้น


                  ความจริง  กามทั้งหลายวิจิตร รสอร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิต ด้วยรูปมีประการต่างๆ


                  มหาบพิตร  อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย  เพราะเหตุนั้นจึงบวชเสีย  ผลไม้ทั้งหลายยังไม่หล่นทีเดียว  มาณพทั้งหลาย ทั้งหนุ่มทั้งแก่ ย่อมมีสรีระทำลายได้


                  มหาบพิตร  อาตมภาพรู้เหตุนี้จึงบวช  ความเป็นสมณะ  เป็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิด  เป็นคุณประเสริฐแท้  ดังนี้แลฯ

 

                     จบ รัฏฐปาลสูตร  ที่ ๒ ในมัชฌิมนิกาย  มัชฌิมปัณณาสก์

   

                คำอธิบาย  พระสูตรที่ยกมาข้างต้น  เป็นถ้อยคำของพระรัฐปาลเถระ ซึ่งตอบคำถามของพระเจ้าโกรัพยะที่ทรงถามพระรัฐปาลด้วยความสงสัยว่า คนบางพวกในโลกนี้เมื่อประสบความเสื่อม ๔ ประการ ย่อมปลงผมและหนวด  นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต  ความเสื่อมนั้นคือ ๑.ความเสื่อมเพราะชรา  ๒.ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้  ๓. ความเสื่อมจากโภคสมบัติ  ๔.ความเสื่อมจากญาติ  แต่เหตุไฉน ท่านพระรัฐบาล เป็นลูกมหาเศรษฐี  เป็นลูกชายคนเดียวของตระกูล ยังหนุ่มแน่นเส้นผมดำขลับ  ไม่ได้มีความเสื่อมดังกล่าวแม้แต่น้อย  จึงได้ออกบวชดำรงตนอยู่ในสมณเพศเช่นนี้  พระรัฐปาลจึงกล่าวตอบพระเจ้าโกรัพยะด้วยคาถาดังกล่าว


                พระรัฐปาลเถระ ท่านพากเพียรอุตสาหะยอมเอาชีวิตของตนเข้าแลกเพื่อให้ได้บวช ยอมอดข้าวเพื่อให้บิดามารดายอมอนุญาตให้ท่านออกบวชได้  บิดามารดาเห็นความตั้งใจจริง และคิดว่าเมื่อท่านออกบวชก็ยังได้เห็นลูกชาย ดีกว่าปล่อยให้ลูกตายไปจากตน  เมื่อท่านออกบวชบำเพ็ญจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้กลับมาบิณฑบาตหน้าบ้านโดยไม่มีใครจำได้  ในขณะที่นางทาสีกำลังนำขนมบูดและของกินที่ค้างคืนจากบ้านเศรษฐีไปทิ้งถังขยะ  ท่านได้พูดขึ้นว่า “ถ้าจะทิ้ง  ขอให้ทิ้งลงในบาตรของเราเถิด”


              นางทาสีจำเสียงท่านได้ จึงรีบวิ่งเข้าไปในคฤหาสน์เพื่อบอกเศรษฐีผู้เป็นมารดาบิดา  บิดาทราบข่าวว่าท่านมาเดินขอทานหน้าบ้าน (ที่เราเรียกว่าการบิณฑบาตทุกวันนี้) จึงบอกให้ท่านเข้ามานั่งฉันในบ้านเหมือนเมื่อก่อน  แต่ท่านตอบท่านเศรษฐีว่า “อาหารเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับอาตมภาพตลอดวันนี้”


                พระรัฏฐปาลเถระ ท่านได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตั้งให้เป็นเอตทัคคะ ว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านเป็นผู้ออกบวชด้วยความเลื่อมใสศรัทธา


                บุคคลใด เมื่อได้ศึกษาชีวิตของท่านแล้ว  จะทำให้เห็นคุณค่าของการบรรพชาคือการออกบวชว่าเป็นคุณชาติที่สูงส่งและยิ่งใหญ่  ทำให้จิตใจเกิดความผ่องใสด้วยอานุภาพแห่งศรัทธา  เป็นสังฆานุสติที่ทำให้ใจเกิดสมาธิและสงบร่มเย็น  ย่อมเกิดอานิสงส์แก่ผู้ได้สดับติดอยู่ในใจกลายเป็นอริยทรัพย์ไปตลอด

 

 

                                                                            คุรุอตีศะ
                                                                    ๒๖  มีนาคม  ๒๕๕๙