เกี่ยวกับท่านคุรุอตีศะ

ท่านคุรุอตีศะ     “คุรุอตีศะ” เป็นชื่อที่ใช้ในการประกาศพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระมหาภาวศุทธิ์ เทวธมฺโม ป.ธ. ๙  ในฐานะครูผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งเกพลิตาโพธิวิหาร ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันอาสาฬหบูชา วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

 

     ท่านคุรุอตีศะ เกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ณ บ้านเลขที่ ๑๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองบอน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว อันเป็นสถานที่ก่อตั้งเกพลิตาโพธิวิหารในปัจจุบัน

 

     ชีวิตฆราวาสก่อนอุปสมบท เคยเริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๘ ปี ที่กองบิน   ๑ นครราชสีมา และกองบิน ๒๑ อุบลราชธานี ได้รับเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ ๒ จากการออกราชการชายแดนที่ ฝูงบิน ๒๑๖ จังหวัดสุรินทร์ ต่อมาได้ขอย้ายมารับราชการในสังกัด กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ดอนเมือง และได้รับการประดับเลื่อนยศเป็น “พันจ่าอากาศเอก” เมื่ออายุ ๒๕ ปี ที่ กองบิน ๕๓ ประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นการใช้ชีวิตในความเป็นทหารในหน่วยสุดท้าย

 

     สำเร็จปริญญาตรีนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งนิติกร ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับราชการในสังกัดกรมสรรพากร ต่อมาเมื่อสำเร็จการศึกษาเนติบัณฑิตไทย (น.บ.ท.) จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และได้ขอโอนย้ายไปรับราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม รอจังหวะและเวลาที่จะได้เดินตามรอยพุทธองค์

 

     ท่านคุรุอตีศะ มีอุปนิสัยโน้มไปในทางธรรมตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อตอนมารดาเริ่มตั้งครรภ์ ได้ฝันว่าได้ขึ้นไปบนภูเขาโล้นเป็นเนินสูง ได้พบพระพุทธรูปทองคำแบบพระสีวลีฝังอยู่ในดิน จึงคุ้ยขึ้นมาแล้วเอาผ้าโพกศีรษะเช็ดถู รัศมีขององค์พระยิ่งสุกสกาวเรืองรอง จึงทิ้งสัมภาระทุกอย่างอุ้มพระพุทธรูปทองคำนั้นกลับมาตั้งบนหิ้งบูชา ก็ปรากฏว่ารัศมีของพระพุทธรูปยิ่งเปล่งประกายทำให้ทั่วทั้งห้องและตัวเองกลายเป็นสีทองไปด้วย ด้วยความปลื้มปีติจึงยกมือขึ้นไหว้ แล้วก็รู้สึกตัวตื่น ในขณะที่มือทั้งสองยังพนมอยู่บนอก

 

     ในขณะตั้งครรภ์มารดามักมีอาการแพ้ท้องคือจะทานอาหารเนื้อสัตว์ไม่ได้ ทานได้แต่ผลไม้ และเมื่อถึงกำหนดคลอด ก็คลอดบุตรชายคนโตที่มีรกสามสีพันคอสามรอบ แล้วสะพายแล่งดุจสายสังวาลย์ หมอดูประจำถิ่นซึ่งเคยอุปสมบทที่วัดสุทัศนเทพวรารามได้ทำนายว่า ถ้าอยู่ทางโลกจะได้เป็นใหญ่ผิดจากตระกูลเดิมมาก หากออกบวชจะได้ค้ำชูพระศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยคุณธรรมภายในและเกียรติยศชื่อเสียง  ควรยกให้คนที่มีวงศ์ตระกูลที่ดีช่วยอบรมเลี้ยงดู มิฉะนั้นจะเป็นคนที่คนทั่วไปเข้าใจยาก

 

ท่านคุรุอตีศะ     คุรุอตีศะ สนใจฟังธรรมทางวิทยุตั้งแต่ยังเด็ก ชอบแอบไปนั่งสมาธิคนเดียวในป่าเงียบๆ และชอบคิดพิจารณาชีวิตของผู้คนที่พบเห็นอย่างลึกซึ้ง ตอนอายุ ๑๕ ปี แอบสมาทานศีล ๕ ตามลำพังไม่บอกให้พ่อแม่และใครๆรู้ พอสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ขออนุญาตมารดาเพื่อออกบวช แต่มารดาต้องการให้เป็นหลักของพ่อแม่และน้องๆเสียก่อน จึงไม่อนุญาตให้บวช เมื่อผลการสอบนักเรียนจ่าอากาศประกาศว่าเป็นผู้สอบได้ จึงไปรายงานตัวเพื่อเข้าเป็นนักเรียนจ่าอากาศ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๓

 

     การไปรายงานตัวเพื่อเข้าเป็นนักเรียนจ่าอากาศ ในขณะที่จิตพิจารณาพระไตรลักษณ์ตลอดเส้นทาง ไม่รู้ว่าตนเองจะต้องทนทุกข์อยู่กับความหยาบกระด้างไม่เห็นคุณค่าของพระรัตนตรัยและศาสนาของผู้คนส่วนใหญ่ตามธรรมดาชาวโลกไปอีกนานเพียงใด ความบีบคั้นในจิตใจของผู้ที่อยากออกบวชสละโลกเพื่อเดินตามรอยพระอริยเจ้า แต่กลับต้องมาปรับใจเดินตามชาวโลกในการอยู่ท่ามกลางกระแสคลื่นของปุถุชนนั้น ยากที่ใครจะเข้าใจ แรงบีบคั้นดังกล่าวจึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “จะขออยู่ทำหน้าที่ในฐานะบุตรชายคนโตพอให้น้องๆพอยืนได้ในโลกเพื่อทดแทนพระคุณของบิดามารดาผู้ให้ชีวิตเสียก่อน แต่ในระหว่างนี้หากชีวิตนี้จะได้เกิดมาค้ำจุนพระศาสนาแท้จริงแล้ว ก็ขอจงคลาดแคล้วอย่าได้เข้าสู่ชีวิตแต่งงานเหมือนคนทั่วไป และขอให้ข้าพเจ้าได้ออกบวชได้สมความปรารถนาภายในอายุ ๒๙ ปี”

 

     สติปัญญาอันแหลมคมอันเป็นผลมาจากการเจริญสติปัฎฐานแบบ “หาน้ำใสท่ามกลางน้ำขุ่น” หรือ “ลิ้นงูในปากงู” ดุจการเป็นพระในคราบฆราวาสนั้น เปรียบเสมือนผู้รอดตายในสงครามแล้วได้รับเหรียญตรา  ที่ท่านต้องขอบคุณทุกคนทุกชีวิตและสรรพสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมจนมาเป็นคุรุอตีศะได้ในวันนี้

 

     ท่านคุรุอตีศะได้สละทางโลกออกอุปสมบทเมื่อวันวิสาขบูชา อันตรงกับวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ เมื่ออายุครบ ๒๙ ปีบริบูรณ์ ณ พัทธสีมาวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม (บางชัน) กรุงเทพมหานคร ได้รับอนุญาตจากพระอุปัชฌาย์ให้เข้าไปปฏิบัติธรรมเป็นพระป่านับแต่บัดนั้น ท่านได้มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมเป็นพระธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด ไม่สวมรองเท้า ไม่จับปัจจัยเงินทอง ฉันอาหารในบาตรมื้อเดียวมังสวิรัติ ครองผ้าสามผืนและบิณฑบาตเป็นวัตรตลอด ๕ พรรษา

 

     ต่อมาได้มีเหตุปัจจัยบางอย่างทำให้ท่านได้ตัดสินใจลงจากขุนเขาออกจากป่า มุ่งหน้าสู่เมืองหลวงเพื่อเล่าเรียนภาษาบาลีตามคำสั่งของครูบาอาจารย์ในป่า ท่านได้พากเพียรเรียนนักธรรมและบาลีพร้อมกับบำเพ็ญภาวนาและอยู่อย่างสันโดษเรื่อยมา เวลาออกพรรษและสอบบาลีเสร็จแล้วก็ออกจาริกธุดงค์ สำเร็จนักธรรมเอกและเปรียญธรรม ๓ ประโยค เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ตามปณิธานของการ “ออกจากป่ามาเรียนบาลี” จนกระทั่งสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑

 

     ท่านคุรุอตีศะได้อธิษฐานไว้ก่อนลงจากขุนเขาและออกจากป่าว่า “หากในอดีตชาติเคยเป็นผู้มีความรู้และแตกฉานในพระบาลี ขอให้ข้าพเจ้าสามารถสอบบาลีได้จนสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค หากสำเร็จแล้วจะขอบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อให้สำเร็จ โดยจะไม่เข้าสู่วงการของสมณศักดิ์หรืออำนาจทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทย” แต่จะขอทำประโยชน์เกื้อกูลผู้คนและต่อพระศาสนาตามวาสนาและโอกาส จะไม่เน้นการสร้างวัดภายนอก เพราะวัดเช่นนั้นมีมากแล้ว แต่จะขอสร้างวัดภายในเป็นหลัก พร้อมทั้งคอยชี้ทางและให้แสงสว่างแก่ผู้คนที่มีบุญวาสนาได้มาพบกันในชาตินี้ตามแต่จะเป็นไป หากบุคคลใดมีวาสนาได้สร้างมาที่จะได้มาช่วยกันสร้างสรรค์ค้ำชูพระศาสนา ณ ดินแดนแห่งนี้ ก็ให้เป็นไปตามแต่บุญวาสนาของแต่ละคนจะพึงกระทำบำเพ็ญ โดยไม่เน้นว่าจะต้องเจริญรุ่งเรืองมีชื่อเสียงเหมือนวัดทั้งหลายทั่วไป เพียงเป็นหลักชัยให้ผู้ที่ต้องการที่พึ่งพิงยามอ่อนล้าต่อชีวิตและบุคคลที่เกิดมาสร้างบารมีค้ำจุนพระศาสนาก็พอแล้ว

 

ท่านคุรุอตีศะ     ในการเริ่มก่อตั้งเกพลิตาโพธิวิหารเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗  สถานที่แห่งนี้ได้ใช้ชื่อว่า   “สวนเกพลิตา” อันหมายถึงสถานที่บำเพ็ญเพียรเพื่อความหมดจดจากกิเลส ต่อมาได้เปลี่ยนเรียกว่า “อาศรมเกพลิตา” เพื่อความชัดเจนว่าจะไม่สร้างวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และไม่เป็นเจ้าอาวาส เพราะการเป็นเจ้าอาวาสและการสร้างวัดนับเป็นภาระมากในการแสวงหาปัจจัยเงินทอง และเป็นอุปสรรคอันสำคัญที่จะทำให้ไม่ได้สร้างวัดภายใน ตามปณิธานแห่งการสละทางโลกที่กำลังสดใสและรุ่งเรืองออกบวช ยากที่จะได้ฝึกฝนตนเองเพื่อให้เป็น “พุทธบุตร” ที่แท้จริง ตามที่ได้ศึกษาและปฏิบัติมาตั้งแต่ยังครองเพศฆราวาส ในยามออกพรรษาจะได้ออกธุดงค์และจาริกแสวงหาความวิเวกตามที่ต่างๆได้ทั่วประเทศ

 

     ท่านคุรุอตีศะ ได้อาศัยความวิเวกและสันโดษจากความเป็นอาศรมเกพลิตาในการฝึกฝนจิตและเรียนพระปริยัติธรรมด้วยตนเองท่ามกลางอุปสรรคและแรงบีบคั้นต่างๆเป็นเวลา ๑๒ ปี จนกระทั่งสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค และสำเร็จหลักสูตรพระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๑๒ ต่อมาเมื่อสถานที่แห่งนี้บารมีได้เปิดกว้างออกไปเพื่อประโยชน์ของมหาชน ได้กลายเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรัตนสราบูรพาสิริ “หลวงพ่อพระโลกธาตุหยกขาว”  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะสลักอัญเชิญมาจากประเทศพม่า จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า “เกพลิตาโพธิวิหาร” ตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นมา

 

     การใช้นามว่า “คุรุอตีศะ” ก็เพื่อเทิดทูนพระอตีศะทีปังกรศรีชญาณ  พระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ที่ได้สละความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองในอินเดีย แล้วได้เดินทางไปประกาศพระศาสนาตามคำอาราธนานิมนต์ของเจ้าชายแห่งธิเบต อันทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงในประเทศธิเบตนับแต่นั้นมา ซึ่งพระภิกษุหนุ่มผู้เริ่มเรียนบาลีได้อ่านประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาแล้วเกิดความซาบซึ้งและประทับใจ ดังนั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพระเปรียญธรรม ๙ ประโยค แต่ก็ปรารถนาจะใช้ชีวิตสันโดษและเรียบง่ายตามเดิม ขอเพียงมีคนสนใจที่จะฟังธรรมเพียงหนึ่งคนและได้ถ่ายทอดพระธรรมออกไปสู่ดวงใจของผู้มีความเคารพ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้ทดแทนคุณพระศาสนาอุปัชฌาย์อาจารย์ และได้ทดแทนคุณญาติโยมผู้อุปัฏฐากบำรุงด้วยปัจจัยสี่และช่วยเหลือการงานต่างๆแล้ว   ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ใช้ชื่อว่า “คุรุอตีศะ”

ท่านคุรุอตีศะ