ทัศนะต่อวงการคณะสงฆ์
- รายละเอียด
- หมวด: คติธรรม/ปรารภธรรม
ทัศนะต่อวงการคณะสงฆ์
การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ควรปล่อยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ โดยปราศจากอคติและไม่มีนัยแอบแฝงทางการเมือง ซึ่งทุกสิ่งย่อมกระจ่างชัดอยู่โดยไม่มีอะไรปฏิเสธได้ว่า “สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” ได้แก่สมเด็จพระราชาคณะรูปใด ดังนั้นจึงควรดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติก่อนที่ปัญหาต่างๆจะลุกลาม ซ้ำเติมปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือปัญหาของชาติบ้านเมืองให้ทรุดลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่
เราควรมองอนาคตอันยาวไกลไปข้างหน้า และมุ่งจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาเป็นหลัก มากกว่าจะมาติดอยู่กับเพียงปัญหากรณีของวัดพระธรรมกาย แล้วยกขึ้นเป็นอุปสรรคในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มิใช่เพื่อหมู่คณะหนึ่ง หมู่คณะใด นิกายหนึ่ง นิกายใด แต่เป็นตำแหน่งแห่งการเป็นประมุขหรือเป็นหลักชัยของคณะสงฆ์ทุกหมู่เหล่าทั่วทั้งสังฆมณฑล
กรณีของวัดพระธรรมกายที่หลายคนหลายฝ่ายพากันวิตก ก็เป็นวิวัฒนาการของความเป็นไปแห่งพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง เช่นเดียวกับการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆในอดีต ซึ่งนับตั้งแต่พระพุทธศาสนามีอายุได้เพียงร้อยปีเศษ ก็ยังต้องมีการสังคายนาครั้งที่ ๒ และเมื่อพระพุทธศาสนาอายุได้ประมาณ ๓๐๐ ปี ก็มีการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป
เราท่านทั้งหลายจึงไม่ควรเอากรณีของวัดธรรมกายก็ดี สำนักสันติอโศกก็ดี ตลอดทั้งความเป็นมหานิกายและธรรมยุติก็ดี มาเป็นอุปสรรคปัญหาต่อการจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาโดยรวม เหตุการณ์ความวุ่นวายภายในวงการพระพุทธศาสนาก็เป็นอีกวิวัฒนาการหนึ่ง ซึ่งก็มีเรื่อยมาตั้งแต่มีการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ที่หลายฝ่ายไม่ยอมให้การบริหารและการปกครองคณะสงฆ์เปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับยุคสมัยตามที่ควรจะเป็น
ดังนั้น แม้จะมีความยุ่งยากวุ่นวายต่างๆต่อเนื่องมาอย่างที่ทุกคนทุกฝ่ายต่างมีความห่วงใย แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบลง มีการเปลี่ยนรัชสมัยตามกาลเวลาขึ้นสู่ยุครัชกาลที่ ๑๐ แล้วเมื่อใด หลังจากบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเข้าสู่ยุคใหม่ พระพุทธศาสนาก็คงจะถึงเวลาของการสังคายนาครั้งใหญ่ อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงแน่นอน
สรรพสิ่งบรรดามีในโลก รวมถึงพระพุทธศาสนา ก็ไม่พ้นจากกฎพระไตรลักษณ์ ต้องมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามยุคสมัย และมีการเปลี่ยนแปลงจากภูมิประเทศหนึ่งไปสู่อีกภูมิประเทศหนึ่ง จากท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง เหมือนดังสมัยก่อนที่พระพุทธศาสนาเคยกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย ต่อมาก็มีการเผยแผ่มาสู่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นและเป็นเช่นไร อายุพระพุทธศาสนาก็จะอยู่ได้ถึง ๕,๐๐๐ ปี ตามพระพุทธทำนาย
เราทั้งหลายผู้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงมั่นใจในความประเสริฐของคำสอนของพระองค์ว่า จะไม่มีสิ่งใดมาล้มล้างหรือทำลายได้ เพียงแต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเมื่อก่อนตามกฎแห่งวิวัฒนาการ การปกครองหรือการบริหารกิจการพระพุทธศาสนาก็ต้องมีการปรับตัวและยอมรับความเป็นไปของสังคมโลกซึ่งไม่มีสิ่งใดห้ามได้ตามหลักอนัตตา
เพียงแต่ว่าปวงเหล่าพุทธศาสนิกชน หรือผู้ได้ชื่อว่าเป็นสาวกของพระตถาคตเจ้า ต้องศึกษาและปฏิบัติให้เข้าถึงหัวใจคำสอนของพระองค์ แล้วช่วยกันจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว เพื่อประโยชน์ของเวไนยสัตว์และอนุชนคนรุ่นหลังต่อไป
ดังนั้น ในทัศนะส่วนตัวจึงมีความเห็นว่า ควรมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ ให้เป็นไปตามกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อการจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาในช่วงรอยต่อแห่งวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาในยุคใหม่ เพื่อเห็นแก่ความวัฒนาสถาพรแห่งอายุพระพุทธศาสนาสืบไป
คุรุอตีศะ
๕ มกราคม ๒๕๕๙