คนดีที่เข้มแข็ง

 

คนดีที่เข้มแข็ง

 

                   การเป็นคนดี เป็นคนเสียสละเพื่อคนอื่น มีความซื่อสัตย์จริงใจกับผู้คนโดยทั่วไป เพียงแค่นั้นยังไม่เพียงพอ หากคิดว่าการเป็นคนดีด้วยวิธีการและการประพฤติเพียงแค่นั้น ภายหลังบุคคลนั้นจะกลายเป็นคนที่ผิดหวังต่อผู้คนและผิดหวังกับชีวิตได้โดยง่าย และเป็นความผิดหวังที่ลึกซึ้งที่คนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้เสียด้วย

 

                   คนดีจำนวนมากในโลกนี้ ต้องกลายเป็นโรคประสาท เนื่องจากการเก็บกดหรือสะกดกลั้นข่มอารมณ์อยู่ตลอดเวลา  เมื่อไม่รู้วิธีการเจริญสติภาวนา  พลังด้านลบที่สะสมไว้นานก็จะกลับมาบั่นทอนตัวเอง  วันใดจิตใจอ่อนแอก็จะรู้สึกว่าทำดีไม่เห็นได้ดี คนอื่นทำชั่วและเห็นแก่ตัวทำไมกลับได้ดีมีสุขกว่าเรา

 

                   ทั้งนี้ก็เพราะไม่เข้าใจสัจธรรมของโลกมนุษย์ใบนี้ว่า สังคมและสภาพจิตใจของผู้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ การดำเนินชีวิตของคนทั้งหลายนั้นอยู่ได้ด้วยความจอมปลอม เมื่อตนเองไปเอาชีวิตจิตใจอันบริสุทธิ์และงดงามทุ่มเทลงไปในความจอมปลอม ทุกสิ่งจึงกลายเป็นโมฆะ เป็นความว่างเปล่า และกลายเป็น “คนดีที่ผิดหวังกับมนุษย์”

 

                   หากไม่มีภูมิธรรมเป็นสิ่งคุ้มกันจิตใจ การเป็นคนดีที่พยายามทำดีตลอดมาเพื่อเอาใจสังคม เอาใจพี่น้อง เอาใจเพื่อนฝูง  เมื่อย้อนมองแล้วเห็นว่าทำไมความดีของเราที่อุตส่าห์ทุ่มเทจึงไร้ค่า  ก็กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายหรือรู้สึกว่าทำดีไม่เห็นได้ดีสักที

 

                   การทำความดีหรือเป็นคนดีเพียงแค่ให้ถูกใจครอบครัว ถูกใจญาติพี่น้องเพื่อนฝูง หรือว่าถูกใจสังคม เพื่อแลกกับคำชื่นชม หวังให้พวกเขาหรือใครๆยอมรับว่าเราเป็นคนดี ยังไม่เป็นการปลอดภัยต่อหัวใจดวงนี้ เพราะเมื่อใดเราไม่มีประโยชน์สำหรับเขา เราจะกลายเป็นคนอ่อนแอหรือไร้ค่า กลายเป็นว่าความดีที่ทำมาเป็นเพียงความว่างเปล่า เป็นความผิดหวังอันลึกซึ้งที่เก็บกดไว้ อยู่ภายในใจตัวเองตามลำพัง

 

                    ใครก็ตามที่เสียสละทำความดีอยู่ในระดับนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งชีวิตจะเหมือนถึงทางตัน และจะกลายเป็นคนคิดมาก เพราะความดีในระดับนี้เป็นเพียงความสำเร็จในทางโลก ที่หวังให้ผู้คนยอมรับ แต่ยังไม่ใช่การสร้างกุศลบารมี ที่จะเป็นเครื่องนำมาซึ่งความอุ่นใจของชีวิต

 

                   หากยังดันทุรังประมาทในชีวิตต่อไป เมื่อผลบุญที่ตนเคยสร้างไว้เริ่มร่อยหรอ จากที่เคยสุขสบายก็มักจะมีเรื่องร้ายๆไม่หยุดหย่อน   เมื่ออดทนหรือข่มอารมณ์ไม่ไหว เขื่อนที่ตนเองสร้างไว้ให้ดูเป็นคนดีในสายตาของใครๆตลอดมา  ก็จะกลายเป็นคนดีที่ตบะแตก หรือเป็นคนดีที่เปลี่ยนไป  ใครๆก็จะพากันรังเกียจและพยายามตีตัวออกห่าง เพราะสภาพภายในจิตใจของบุคคลนั้นเปลี่ยนไป ไม่น่ารักหรือไม่น่าเข้าใกล้เหมือนก่อน  ตนก็ยิ่งรู้สึกผิดหวังและช้ำใจยิ่งขึ้น

 

                   จากเคยเป็นคนสุภาพอ่อนโยน ก็จะกลายเป็นคนขี้หงุดหงิด โกรธง่าย หรือกลายเป็นแข็งกร้าว ก้าวร้าว โมโหง่าย อันเกิดจากความสะกดกลั้นอารมณ์ หรือเก็บกดอารมณ์สะสมไว้ภายใต้จิตสำนึกมานาน ได้เวลาระเบิดออกมาเมื่อเขื่อนอารมณ์พังทลาย

 

                   การที่ท่านให้หมั่นบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา ก็เพื่อให้คนดีทั้งหลายได้สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่จิตใจตัวเอง การฟังธรรมจะทำให้เกิดปัญญารู้เท่าทันความจริงของชีวิต การรักษาศีลประพฤติเนกขัมมะเป็นครั้งคราว ก็เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ครอบครัว  เนกขัมมะบารมีจะทำให้มีตบะซึ่งมือที่สามจะมาทำลายครอบครัวไม่ได้ จะทำให้จิตใจหนักแน่นและมีสติในความรักที่สะอาดสูงส่งมากขึ้น  ไม่หมกมุ่นลุ่มหลงมัวเมาเกินไป  จะทำให้เกิดความเคารพต่อกัน

 

                   การทำความดีนั้น คือ การกระทำหรือประพฤติในสิ่งที่ดีงามตามคำสอนขององค์พุทธะ คำของนักปราชญ์หรือคำของเหล่าพระอริยเจ้า โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าจะทำความดีเพื่อเอาใจใคร แต่ทำความดีเพื่อความดีและสร้างกุศลบารมีของเราเรื่อยไป แม้บางครั้งการทำความดีหรือการสร้างกุศลนั้น อาจจะไม่มีใครมองเห็น  แต่เราจะมีความสุขและสบายใจในสิ่งที่เราได้กระทำบำเพ็ญ และตัวเรานี้เองจะเป็นคนชื่นชมและนับถือตัวเอง  โดยไม่ต้องให้ใครมาตัดสิน หรือไม่ขึ้นกับว่าใครจะคิดเห็นหรือรู้สึกกับเราอย่างไร

 

                   การเป็นคนดีเพียงแค่เอาใจสังคมหรือใครบางคนนั้น  ยังไม่เป็นการปลอดภัยในการดำเนินชีวิต  ต้องหมั่นสร้างกุศล หมั่นฟังธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกจิต  โดยมีหลักการว่าต้องเป็นคนดีด้วยและเข้มแข็งในการสร้างกุศลด้วย จึงจะดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสง่างาม

 

                    การเป็นคนดีที่เข้มแข็งเช่นนี้เองคือคนดีที่โลกต้องการ  คนดีชนิดนี้แม้อยู่ทางโลกก็จะพบกับความสำเร็จและเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้  เมื่อตัดสินใจเดินไปบนเส้นทางธรรมก็จะได้สร้างประโยชน์ให้แก่โลกอย่างยิ่งใหญ่และเดินไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคลในที่สุด

 

 

                                                                       คุรุอตีศะ

                                                               ๒๖  ธันวาคม  ๒๕๕๘