คติธรรมสากล : ๒

คติธรรมสากล

๔ กรกฎาคม  ๒๕๕๘

                                                                                  

 

 

 

                     เป้าหมายหลักของการเรียนในโรงเรียน คือผลการสอบที่ดี ที่เห็นกันว่าจะเป็นบันไดก้าวแรกสู่ “ความสำเร็จในอาชีพ” ซึ่งไม่ได้วัดกันที่คุณค่าซึ่งจะพึงมีต่อปัจเจกบุคคลนั้นหรือต่อสังคม  แต่ส่วนมากจะหมายถึงความสามารถในการหาเงิน


                     การ “ได้รับความสำเร็จ”ไม่ได้หมายความว่าพอใจกับศักยภาพที่ได้รับการเติมเต็ม หรือการได้ทำการงานที่มีคุณค่าให้แก่สังคม  แต่กลับหมายถึงการได้เสวยความมั่งคั่ง มีเวลาว่างมากๆ และมีเกียรติมีฐานะ


                    สมมุติฐานที่แพร่ไปอย่างกว้างขวางว่า เงินคือปัจจัยหลักวัดความสำเร็จและความสุข  ทำให้คนจำนวนล้านๆ ตกเป็นทาสของมัน


                   การห่วงใยผู้อื่น ความสำเร็จในงานสร้างสรรค์ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของคนอื่นเป็นที่ตั้งอย่างไม่คำนึงถึงตนเอง พฤติกรรมที่ดีเหล่านี้ยังมีผู้เห็นคุณค่ากันอยู่  แต่ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน  คุณธรรมดังกล่าวกลับพบได้น้อยกว่าความหรูหราฟุ่มเฟือย และการใช้ชีวิตกันตามสบาย


                   กระนั้นก็มีหลักฐานอ่อนมากที่แสดงให้เห็นว่าการร่ำรวยมากๆ จะทำให้มีความสุขมาก  มีตัวอย่างเศรษฐีที่แบกทุกข์มากมายนัก  ผู้รอเวลาจะได้พบความสุข ตำนานความเชื่อผิดๆ ยืนยันว่าเงินไม่แค่นำความเพลิดเพลินมาให้เท่านั้น แต่จะนำความสุขที่มั่นคงมาให้ด้วย


                   คานธีถึงกับพยากรณ์ไว้ว่า “การแสวงหาความสุขสบายทางวัตถุกันอย่างไม่หยุดยั้ง และหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนี้ เป็นความชั่วร้าย  ผมกล้าจะพูดต่อไปด้วยว่า ถ้าชาวยุโรปไม่อยากตายอยู่ใต้น้ำหนักความสะดวกสบายที่พวกเขากลายเป็นทาสไปแล้วนั้น พวกเขาต้องปรับโลกทัศน์ของตนเสียใหม่”


                   และในเมื่อวัฒนธรรมของเรายิ่งหมกมุ่นอย่างถลำลึกอยู่กับการบริโภค อยู่กับวัตถุสิ่งของ ตามที่มันกระตุ้นให้เราเกิดความต้องการใหม่ๆ และความจำเป็นจอมปลอม ให้ความหวังแก่เราว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปอย่างไร้ขีดจำกัด และเราจะได้รับความบันเทิงอย่างไม่สิ้นสุด  จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณา ว่าศรัทธาที่มีต่อเงินและการอยากครอบครองให้มากๆ จะนำเราไปถึงไหน

 

              .... และก็ถึงเวลาด้วยเช่นกัน ที่จะต้องพิจารณาคุณค่าของความเรียบง่าย ความเงียบและความวิเวก


               แมกซ์ ปิการ์ด เขียนไว้ใน The World of Silence ว่า “ความเงียบ เป็นปรากฏการณ์อย่างเดียวในปัจจุบันที่ ‘ไม่มีประโยชน์’  ความเงียบไปกันไม่ได้กับโลกของกำไรและประโยชน์ใช้สอย  มันก็แค่มีอยู่เท่านั้นเอง ดูเหมือนจะไม่มีเป้าหมายอื่นใด ใครจะเอาไปทำประโยชน์อะไรก็ไม่ได้....คุณเอาอะไรจากความเงียบไม่ได้ มันไม่ ‘ก่อให้เกิดผลเป็นผลิตภัณฑ์’ ความเงียบจึงถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า

 

              “ทว่า ความเงียบมีพลังในการช่วยเหลือ และการบำบัด ได้ดีกว่า ‘สิ่งมีประโยชน์’ ใดๆ  จู่ๆ ความเงียบซึ่งไร้จุดมุ่งหมาย ไม่แสวงประโยชน์ มาปรากฏอยู่ใกล้ๆ เรา ซึ่งเต็มด้วยความมุ่งหมาย  แล้วเราก็ตกใจไปกับความไร้เป้าหมายของความเงียบนั้น

 
                มันแทรกเข้ามาในกระแสความมุ่งหมาย ให้พลังกับคนที่สังคมรังเกียจ บรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้ถูกรังแก  ทำให้สิ่งทั้งหลายกลับสู่องค์รวม  ด้วยการนำสิ่งนั้นๆ กลับมาจากโลกที่กระจัดกระจายมารวมไว้ในโลกแห่งองค์รวม  ทำให้สิ่งไร้ประโยชน์มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตน  นี่แหละคือ ความเงียบ ความไร้ประโยชน์อันศักดิ์สิทธิ์”

 

                                                                       จอห์น  เลน
                                                               (สดใส  ขันติวรพงศ์  แปล)