เลิกปฏิบัติ

เลิกปฏิบัติ

 

 

 

                   หากเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้วชีวิตมันสับสนวุ่นวายนัก ลองหันมาเลิกปฏิบัติดูบ้างก็ได้ ชีวิตที่ถือกำเนิดมาบนโลกใบนี้ไม่ใช่ของใคร แต่คือความศักดิ์สิทธิ์อันยิ่งใหญ่ที่ธรรมชาติมอบให้ ทำไมจะต้องคอยให้คนอื่นมาคอยบังคับควบคุมให้ต้องคอยนั่งแบบนั้น ต้องเดินแบบนี้ทั้งๆที่ก็คือเนื้อตัวหรือแข้งขาขาของเราเอง


                  อ่านประวัติครูบาอาจารย์ที่ผจญภัยอยู่ในป่า สนุกสนานในอุรา แต่ก็อย่าลืมว่านั่นคือชีวิตของท่าน  หาใช่ชีวิตจริงของเราในขณะนี้  ท่านธุดงค์ในป่าตั้งแต่ตอนประเทศไทยยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนนรถยนต์วิ่ง ไม่มีโทรศัพท์ตามบ้านคนทั่วไป ไม่ใช่ไปที่ไหนก็มีอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ บางคนตื่นมายังไม่ทันล้างหน้าแปรงฟัน ก็รีบคว้าโทรศัพท์มาดูเหมือนชีวิตของผู้คนสมัยปัจจุบัน


                   ท่านเหล่านั้นเกิดมาในยุคที่ผู้คนมั่นคงในทาน ศีล ภาวนา จิตใจศรัทธาเลื่อมใสในศาสนา ได้ฟังธรรมจนเกิดเห็นทุกข์โทษของชีวิตของฆราวาส จึงออกบวชแสวงหาพระนิพพานทางหลุดพ้น  แต่เราคือผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยที่ผู้คนมุ่งแสวงหาเงินตรา ลาภ ยศ ตำแหน่ง ว่าเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุดของชีวิต ผู้คนหันหลังให้ศาสนาไม่ได้สนใจสัจธรรมแต่อย่างใด จึงยากนักที่จะเป็นไปได้ในการที่จะนั่งสมาธิบรรลุปฐมฌานตามที่อ่านพบในประวัติของครูบาอาจารย์


                    ชีวิตของท่านเหล่านั้น ท่านเกิดมาในยุคสมัยที่เป็นสัปปายะในการแสวงหาทางหลุดพ้น  ยังมีลำธารที่ใสสะอาด ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำผาต่างๆอันเปี่ยมไปด้วยพลังที่สะอาดบริสุทธิ์ ผู้คนยังมีกิเลสเบาบางและไม่ได้แข่งขันยึดมั่นถือมั่นชิงดีชิงเด่นกันเท่ากับยุคของพวกเราสมัยนี้

 
                    “การปฏิบัติสู่ความหลุดพ้น” ในยุคสมัยนี้ จึงเป็นเพียงความเพ้อฝันหรือเป็นเพียงขนมหวานสำหรับเอาไว้ปลอบใจเด็กน้อย  เพราะแท้ที่จริงนั้นผู้ที่เป็นนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ไม่ได้ต้องการหลุดพ้นจากกิเลสแต่อย่างใด แต่ต้องการได้เครดิตในสังคมว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม ได้รับการยอมรับ ได้รับการชื่นชมหรือมีภาพลักษณ์ว่าเป็นนักปฏิบัติผู้สูงส่งเสียมากกว่า


                      หลวงปู่มั่นท่านเป็นปรมาจารย์ด้านธุดงค์  นั่นก็เพราะบารมีที่เต็มเปี่ยมอันเป็นชาติสุดท้ายของท่าน  หลวงพ่อพุทธทาสเขียนหนังสือเป็นตู้ๆให้เราได้ศึกษาได้อ่านก็เพราะบารมีแห่งความเป็นปราชญ์ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่มีเพียงหนึ่งเดียวแห่งยุคสมัยของท่าน


                      ส่วนตัวเรานี้ไม่ได้เกิดมาเป็นพระธุดงค์ ไม่ได้เกิดมาเขียนหนังสืออธิบายศัพท์บาลียากๆ อธิบายหรือวิจารณ์ธรรมะอันเป็นอาหารอันโอชะของพวกปัญญาชนที่ชอบการอธิบายธรรมะแบบนักวิชาการหรือแบบวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยที่ผ่านมาแต่อย่างใด


                      เราคือผู้แสวงหาความสุขทางใจ โดยยังต้องการมีครอบครัวอยู่พร้อมหน้า ยังพอใจในการแสวงหาเงินตรา ความก้าวหน้า ซึ่งยิ่งได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี  นี้คือตัวตนที่แท้จริงของเรา


                      การปฏิบัติธรรมของเราที่แท้จริงจึงหาใช่ปรารถนาความหลุดพ้น  แต่เราคือคนหนึ่งที่ต้องการความสำเร็จหรือสมความปรารถนาในบางสิ่งบางอย่างต่างหาก  การปฏิบัติของเราจึงได้แก่การทำหน้าที่ในขณะนี้ด้วยความรู้สึกตัวอย่างเต็มที่และทำทุกอย่างด้วยความเต็มใจ


                      ไม่หลีกหนีปัญหา ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคขวากหนามใดๆ เพราะตระหนักชัดด้วยปัญญาที่เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริงว่าจะเลือกเอาแต่ดอกบัวที่สวยสดอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องยอมรับเอาโคลนตมว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตด้วย เพราะสัจธรรมของชีวิตที่มิอาจปฏิเสธได้เลยนั้น แท้จริงแล้วก็เพราะ “มีโคลนตม จึงมีดอกบัว”


                       เมื่อตระหนักชัดด้วยปัญญาเช่นนี้  หากการปฏิบัติธรรมสร้างความกดดันหรือเคร่งเครียด  ขอจงเลิกปฏิบัติ  จะปฏิบัติไปทำไมหากต้องเพิ่มความเคร่งเครียดให้แก่ชีวิตมากขึ้น


                       คนสมัยนี้ ชีวิตแต่ละวันแม้จะสะดวกสบายทางร่างกายและชีวิตความเป็นอยู่ แต่หัวใจมักเต็มไปด้วยความวิตกกังวล เคร่งเครียด และไม่สบายใจ จงหันมาผ่อนคลายจิตใจและปลดเปลื้องความหนักอึ้งลงไปด้วยการยืนเดินนั่งนอนให้มันสบาย แต่ให้รู้สึกตัวไปด้วย นั่นแหละคือผู้มีความเพียรและการทำความเพียรในการเจริญภาวนา


                        เลิกปฏิบัติเสีย จิตใจจะได้แจ่มใสและเบิกบานยิ่งขึ้น  เมื่อเลิกปฏิบัติจะพบเคล็ดลับในการพบกับความสุขทางใจเพราะไม่ต้องคอยเก็บกดหรือต้องคอยสะกดกลั้น


                        ความสุขจะเกิดขึ้นเพราะไม่ต้องคอยระวังว่ากิเลสจะเกิด ไม่ต้องคอยระวังว่าจะไม่ได้ปฏิบัติ แต่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ไม่ต้องมีเราไปบงการอะไรในนั้น  การเลิกปฏิบัติเช่นนี้แหละ สติธรรมชาติจะผุดเกิดมีขึ้น เพราะไร้การกดข่มและการสะกดกลั้น จึงทำให้ดวงจิตมีเสรีภาพและพบความอิสระโปร่งเบาอยู่ภายใน


                       หากอ่านหนังสือมากมายแล้วจิตใจฟุ้งซ่านวุ่นวาย  ก็ให้เลิกอ่านเสีย  จงหันมาอ่าน “คัมภีร์หรือหนังสืออันแท้จริงอยู่ภายใน” นั่นแหละคือหนังสือที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุด


                        อ่านหนังสือภายนอกมามากแล้ว ต่อไปนี้จงหันมาอ่านหนังสือเล่มสำคัญคือหนังสือแห่งหัวใจ  ปฏิบัติมามากแล้วจนสับสนวุ่นวาย  ขอจงเลิกปฏิบัติเสีย  แล้วปล่อยให้จิตดวงนี้เขาปฏิบัติของเขาเอง

 

                                                                                คุรุอตีศะ
                                                                      ๓๐  มิถุนายน  ๒๕๕๘