เหนือปริยัติเหนือปฏิบัติ

เหนือปริยัติเหนือปฏิบัติ

 

 

 

                   ความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนาในสมัยยุคปัจจุบัน  ส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างลึกซึ้งก็คือพระภิกษุมีการถือตัวยกตนข่มผู้อื่น  แบ่งแยกหรือแตกแยกเป็นพรรคเป็นพวก เช่นมีทิฐิมานะว่า “ฉันคือผู้รู้ปริยัติ คนอื่นไม่มีความรู้เหมือนฉัน” หรือมีทิฐิมานะว่า “ฉันเป็นพระปฏิบัติ ฉันรู้เห็นเอง ไม่ต้องมีตำรา พวกที่เรียนยังพากันงมในตำรา ไม่มีทางบรรลุได้”


                  พระภิกษุหรือครูบาอาจารย์ที่เรียนแต่ปริยัติ แต่ไม่เคยได้ใช้ชีวิตเป็นพระปฏิบัติ  ก็มักจะยกตนข่มท่านต่อพระภิกษุที่ปฏิบัติสมาธิภาวนาว่าเป็นผู้ไม่รู้อะไร  ส่วนพระภิกษุที่อยู่แต่ในป่าหรือครูบาอาจารย์ที่เคยอยู่แต่กับการปฏิบัติ แต่ไม่ได้ศึกษาปริยัติให้เต็มตัวหรือครบถ้วนรอบด้าน ก็มักจะดูหมิ่นปริยัติเพื่อลดปมด้อยตัวเอง และดูหมิ่นพระที่ศึกษาปริยัติว่ารู้ธรรมะแต่ในตำรา สู้ตัวเองไม่ได้ ที่รู้แจ้งเห็นจริงยิ่งกว่า ไม่ต้องอาศัยตำรา  พระไตรปิฎกไม่มีความหมายอะไร ญาติโยมก็เลยสับสนวุ่นวาย แบ่งเป็นหลายก๊กหลายเหล่าตามมา ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี

 
                  เหตุการณ์เช่นนี้ปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว  จนกระทั่งพระพุทธองค์ทรงตรัสเตือนมิให้พระภิกษุผู้ช่ำชองปริยัติดูหมิ่นผู้รักการปฏิบัติหรือทำสมาธิภาวนา  และตรัสเตือนพระภิกษุที่รักการทำสมาธิภาวนาที่ไม่มีความสามารถในการศึกษาและทรงจำปริยัติ ว่ามิให้ดูหมิ่นพระปริยัติธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนแผนที่หรือลายแทงไว้เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังจะได้อาศัยเป็นคู่มือเดินทาง อันจะทำให้พระศาสนายั่งยืนต่อไป จนกว่าจะมีผู้มีบุญบารมีลงมาเกิดสานต่อและนำพาผู้คนเข้าสู่กระแสธรรมเมื่อถึงยุคสมัยที่ผู้คนจะสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม


                    เรามักจะดูหมิ่นพระที่เรียนปริยัติว่าสู้พระปฏิบัติไม่ได้ และเรามักจะมองข้ามผ่านเลยไปหากพระภิกษุรูปนั้นได้ชื่อว่าเป็น “พระมหา” แต่มีน้อยคนนักที่จะทราบว่า หลวงพ่อฤาษีลิงดำนั้นมีภูมิจิตทรงอภิญญามาก่อนแล้วจึงได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ เพราะท่านมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนบาลีเพื่อการรองรับบางสิ่งบางอย่างในอนาคต  ท่านจึงเรียนจนจบเปรียญธรรม ๔ ประโยค  ก่อนจะได้รับนิมนต์ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าซุงเมื่ออายุได้ ๕๒ ปี เพื่อทำการบูรณะวัดที่กำลังทรุดโทรมซึ่งขณะนั้นมีศาลาใกล้จะพังมิพังแหล่ให้เจริญขึ้นมา


                    ในขณะที่อยู่กรุงเทพฯนั้นพระผู้ใหญ่บางรูปก็รู้ว่า “พระมหาวีระรูปนี้มีคุณวิเศษที่เหนือพระภิกษุรูปอื่น” แม้จะรู้กันอย่างนั้น แต่ท่านก็ต้องทำหน้าที่สอนบาลีกันต่อไป จนกระทั่งต่อมาเมื่อหลวงพ่อฤาษีลิงดำท่านมีความสัมพันธ์อันดียิ่งกับพระราชวงศ์ ทุกคนจึงทราบชัดว่าเหตุใดหลวงพ่อฤาษีลิงดำจึงต้องไปเรียนบาลีทั้งที่ท่านบรรลุทิพยจักษุตั้งแต่บวชใหม่ๆแล้ว


                     หลายคนคงไม่ทราบว่า หลวงพ่อพระมหาธนิต  ป.ธ.๙  หลังจากเรียนปริยัติสำเร็จจากสำนักเรียนวัดชนะสงครามแล้ว  ท่านได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมจนบรรลุโสดาบัน หลังจากนั้นท่านก็ทิ้งวัดไม่สนใจการเป็นเจ้าคุณหรือลาภยศสมณศักดิ์  แต่แบกกลดสะพายบาตรออกจาริกธุดงค์จนกระทั่งมีภูมิจิตเข้าสู่ระดับคุณเบื้องสูง  ในบั้นปลายสุดท้ายในชีวิตสมณเพศ ท่านสามารถกำหนดวันตายไว้ล่วงหน้าและได้นั่งสมาธิมรณภาพใต้ต้นไม้ เหมือนพระเซนในประเทศจีนหรือญี่ปุ่นยุคโบราณ  ไม่ได้นอนมรณภาพเหมือนครูบาอาจารย์รูปอื่นแต่อย่างใด


                       ดังนั้น  การศึกษาธรรมะหรือการปฏิบัติธรรมในยุคนี้  ผู้คนจึงต้องมีความแยบคายไว้อีกอย่างคือ หากไปศึกษาหรืออยู่ปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ที่ท่านไม่เคยได้สัมผัสหรือได้ศึกษาพระปริยัติ  เรามักจะได้ยินท่านพูดตำหนิปริยัติหรือตำหนิคัมภีร์เป็นธรรมดา  ทั้งนี้ก็เพราะว่าท่านเองก็ไม่เคยได้ศึกษามาก่อน  แต่เราเองก็อย่าไปนึกตำหนิปริยัติเหมือนอย่างท่าน


                       หลวงปู่มั่นท่านออกปฏิบัติ พร้อมกับสอบทานผลการปฏิบัติจากหลักปริยัติกับเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ที่วัดบรมนิวาสเป็นประจำ  และท่านก็เรียนปริยัติรู้หลักอย่างช่ำชองเกี่ยวกับการปฏิบัติไว้ก่อนแล้ว ท่านจึงได้ออกจาริกธุดงค์ เพราะสมัยนั้นเป็นยุคบุกเบิกของสายกรรมฐาน ผู้เกิดมาเป็นผู้นำจะต้องมีความพร้อมทุกด้าน  ต้องเป็นคนที่เดินทางจริงด้วยและมีแผนที่ในมือด้วย  บารมีของท่านจึงยิ่งใหญ่  สามารถสั่งสอนลูกศิษย์จนมีผู้บรรลุตามได้มากมาย


                        ครูบาอาจารย์ที่แท้จริง ท่านจะตำหนิปริยัติก็เพื่อทำลายพยศและทิฐิมานะของผู้ที่มุ่งปฏิบัติเพื่อสู่ความหลุดพ้นอย่างแท้จริงแล้ว  ท่านตำหนิเพื่อให้สละความถือตัวว่าเป็นผู้รู้อันจะทำให้สั่งสอนไม่ได้เพราะเป็นน้ำชาล้นถ้วย  เหมือนกับการที่ท่านต้องการสอนธรรมะให้แก่คนที่ร่ำรวย มีเกียรติ มียศ มีตำแหน่ง ท่านก็จะเหมือนไม่ให้เกียรติไม่ให้ความสำคัญ ธรรมะจึงจะมีโอกาสหลั่งไหลเข้าสู่จิตใจของบุคคลนั้น


                      โบราณท่านจึงสอนว่า การไปวัดหรือการเข้าหาครูบาอาจารย์ ต้องไม่เอายศเอาเกียรติเอาความร่ำรวยเข้าไป  ท่านจึงจะเมตตาสอนธรรมะหรือให้คำแนะนำได้อย่างเต็มที่ถึงอกถึงใจ เพราะแสดงว่าบุคคลนั้นจิตใจพร้อมที่จะรองรับกระแสธรรม ดุจทะเลรองรับแม่น้ำทุกสาย


                       ครูบาอาจารย์ที่ท่านเขียนหนังสือสื่อความหมายทางตัวอักษรไม่ได้  ท่านก็ต้องอาศัยการพูดการแสดงธรรมเพื่อการอบรมสั่งสอนเป็นหลัก แต่สำหรับที่ท่านมีความสามารถในการเขียนอันเป็นบารมีเฉพาะตัวเช่นหลวงพ่อจรัญ แห่งวัดอัมพวัน หรือหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ นอกจากท่านจะแสดงธรรมด้วยวาจาแล้ว  ก็ยังมีความเมตตาต่อคนรุ่นหลังที่ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจากปากของท่าน ท่านจึงอดทนอุตสาหะเขียนหนังสือไว้เพื่อเป็นแนวทางแก่คนที่มีบุญบารมีสัมพันธ์ได้อาศัยเป็นลายแทง ดีกว่าธรรมะจะสูญสลายหายไปพร้อมกับร่างกายสังขารของท่าน


                        การเขียนธรรมะ แม้ว่าจะสื่อสภาวธรรมอย่างแท้จริงไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ยังทิ้งร่องรอยและเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่มีปัญญาในการที่จะสามารถคลำหาหนทางเอาเองได้ง่ายขึ้นในภายหลังเมื่อผ่านพ้นยุคสมัยของท่านไปแล้ว นี้คือลักษณะของ "ภัณฑาคาริกปริยัติ" คือปริยัติของผู้ที่ทำหน้าที่ประดุจขุนคลัง  อันเป็นภาระหน้าที่ของพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคลบางประเภทที่ต้องเกิดมาเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ

 
                       คนที่มีศรัทธาจริต  จะไม่ชอบอ่านธรรมะ  แต่คนประเภทพุทธิจริตหรือปัญญาจริต จะชอบการเขียน การอ่าน การวิจัยวิจารณ์ธรรมะอันเป็นอาหารช่วยประเทืองปัญญา


                       เมื่อได้อ่าน ได้ศึกษาจนอิ่มตัวแล้ว  คนประเภทพุทธิจริตนี้บางคนบางท่านก็อาจจะกลายเป็นคนเบื่อหน่ายหนังสือ เบื่อหน่ายตำรา เบื่อหน่ายคัมภีร์แล้วเริ่มแสวงหาหนทางแห่งการดับทุกข์ทางใจ  ถึงตอนนี้แหละที่เขาอาจจะกลายเป็นคนตำหนิคัมภีร์ ตำหนิตำราว่าไม่มีประโยชน์อันใดก็ได้  หรืออาจจะพูดว่า “ไม่รู้จะเรียนจะอ่านไปทำไม” เพราะจิตได้ก้าวพ้นจากการยึดติดในตำราด้วยอานุภาพแห่งอริยมรรค เหมือนคนที่พบหนทางที่แจ่มแจ้งแล้ว ก็พับแผนที่เก็บหรือโยนทิ้งไปได้  นี่คือขั้นตอนแห่งการดำเนินจิตที่อยู่เหนือคัมภีร์ใดๆ


                        ดังนั้น  หากเรายังเป็นนักเรียนที่ยังไม่มั่นใจในเส้นทาง  จงอย่าเพิ่งตำหนิการอ่าน การเขียน หรือตำหนิติเตียนปริยัติอย่างที่ครูบาอาจารย์บางท่านชอบทำเช่นนั้น  อย่าเพิ่งเอาแผนที่ขว้างทิ้งไป  จะได้ไม่เสียใจภายหลัง หากวันไหนมีความจำเป็นก็จะได้หยิบขึ้นมาดูได้


                       จนกว่าจิตดวงนี้จะเข้าถึงสติธรรมชาติซึ่งเป็นความรู้เฉพาะตนอยู่ภายใน เป็นจิตเดิมแท้ที่ยืนอยู่เหนือคำว่าปริยัติและปฏิบัติในวันใด  วันนั้นเราค่อยพูดหรือรำพึงคนเดียวในใจว่า “ตำราปริยัติหรือคัมภีร์ใดๆ ไม่มีความสำคัญต่อหัวใจดวงนี้อีกแล้ว”

 

                                                                                คุรุอตีศะ
                                                                      ๒๗  มิถุนายน  ๒๕๕๘