เบากาย เบาใจ

เบากาย เบาใจ

 

 

 

               การหมกมุ่นในสิ่งใดมากเกินไป  จะทำให้จิตสูญเสียความสมดุล  แม้แต่การปฏิบัติธรรมที่จัดว่าเป็นกิจกรรมที่อยู่ในฝ่ายธรรมะแท้ๆ  หากหมกมุ่นจนเกิดความเคร่งเครียด ก็จะกลายเป็นการไม่ได้ปฏิบัติธรรมไปโดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน


               จงจับหลักไว้ว่า การผ่อนคลายนั่นแหละถือว่าขณะนี้ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว  อาการที่รู้สึกเบากาย เบาใจนั่นแหละคือจิตได้ปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จิตดวงนี้ได้ปฏิบัติไปก่อนที่อัตตาคือความสำคัญมั่นหมายในความเป็นตัวเราจะเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า “เราได้ปฏิบัติธรรมหรือทำสมาธิภาวนาหรือยัง?”


                คนสมัยนี้นั่งเก้าอี้จนเส้นเอ็นโคนขายึดเกร็งมึนชามาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนแล้ว  การปฏิบัติธรรมจึงไม่จำเป็นต้องไปนั่งสมาธิให้ร่างกายตึงเครียดและเส้นเอ็นยึดเพิ่มขึ้นมาอีก อันจะทำให้โรคปวดหลัง ปวดเอว โรคกระดูกทับเส้น ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดบ่าถามหาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว  เพราะความเคร่งเครียดทั้งร่างกาย จิตใจ สมอง และเส้นเอ็น ที่แทบไม่เคยได้รับการผ่อนคลายตลอดมา  จงหันมาผ่อนคลายกายและใจดีกว่า แล้วสมาธิจะเกิดขึ้นเอง


                 เหตุที่คนสมัยนี้สมาธิเกิดขึ้นยาก ก็เพราะเราถูกฝึกให้คิดและฟุ้งซ่านมาเป็นเวลานานมากด้วยการจดจำและเรียนรู้วิชาการต่างๆ  สมองถูกฝึกให้คิดมาตลอด โดยไม่เคยมีใครสอนให้รู้จักหยุดคิดหรือรู้จักการปล่อยวางสู่ความสงบในภายใน  จึงเป็นธรรมดาที่เราจะต้องมีความกลุ้มอกกลุ้มใจสะสมจนกลายเป็นนิสัย  เพราะไม่เคยมีใครสอนให้เรารู้จักทำใจให้ผ่อนคลายตั้งแต่เล็กจนโต


                   ดังนั้น ถ้าเราจะฝึกสมาธิให้จิตหยุดคิดหยุดความฟุ้งซ่านกะทันหัน  ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีวันจะเกิดสมาธิดังกล่าวขึ้นมาได้  เพราะสมาธิจะเกิดขึ้นหลังจากจิตใจเกิดการฟอร์แมท (format)คือได้รับการชำระล้างเสียก่อนจนกระทั่งเข้าสู่สภาวะที่ผ่อนคลาย  หลังจากนั้นสมาธิจะเกิดขึ้นเองอย่างนอกเหนือความตั้งใจ  ดุจเดียวกับสายลมเย็นที่โชยมาทางหน้าต่างโดยไม่มีสิ่งใดจัดสรรปรุงแต่ง  ซึ่งเมื่อถึงเวลาสายลมเย็นสดชื่นก็โชยมาเองอย่างไร้เจตนา


                    ไม่ต้องนั่งสมาธิให้ร่างกายตึงเครียดกดดัน  หากว่าทั้งวันเรานั่งแต่เก้าอี้แทบไม่ค่อยได้เดินและใช้สมองเคร่งเครียดมาตลอด  แต่จงให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลายและถนอมเขาอย่างห่วงใยด้วยความรู้สึกที่อ่อนโยน เสมือนเป็นสิ่งที่น่ารัก น่าทะนุถนอมและมีค่าอันสำคัญยิ่งในชีวิตสิ่งหนึ่งของเรา  จงเมตตาสงสารร่างกายของเราที่เป็นทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์มาตลอด


                    เมื่อร่างกายยืดหยุ่นผ่อนคลายดีแล้ว  หากเราอยากจะนั่งพักจิตในท่าขัดสมาธิบัลลังก์ตามจริตที่เราถนัดก็ค่อยทำ แล้วความสงบ ความผ่อนคลายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว


                   แต่สำหรับคนที่ปวดหลัง ตามขา ตามสะโพก ตามบั้นเอวเลือดลมเดินไม่ค่อยสะดวก ไม่ควรนั่งขัดสมาธิบัลลังก์แบบนั้น   ให้หลีกเลี่ยงการนั่งทรมานสังขารเพราะจิตจะเกิดความตึงเครียดและเกิดความหงุดหงิด  กลายเป็นอัตตกิลมถานุโยคคือการทรมานร่างกายโดยไม่เกิดประโยชน์  คนที่สุขภาพร่างกายไม่ดี  ไม่ต้องไปฝืนร่างกายทำตามคนอื่น  แต่ให้หันมาเจริญสติภาวนาตามวิธีธรรมชาติ  จิตใจจะแจ่มใสผ่อนคลายมากขึ้น  สุขภาพก็จะดีขึ้นตามมา


                     สมาธิคือการปล่อยวาง  สมาธิคือความผ่อนคลาย  เบากาย เบาใจ  สมาธิคืออาการที่รู้ ตื่น เบิกบาน  คนที่มีสมาธิจะสามารถประกอบกิจการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  คนที่มีสมาธิจะมีพลังสร้างสรรค์ ไม่หวาดหวั่นย่อท้อต่ออุปสรรค


                   คนมีสมาธิจะมีความรักหล่อเลี้ยงหัวใจโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเพศตรงข้าม  จิตที่ผ่อนคลายและมีความนุ่มนวล อ่อนโยน มีเมตตา นั่นคืออาการอย่างหนึ่งของคุณภาพดวงจิตที่มีสมาธิอยู่แล้วในตัว   ไม่ต้องไปแสวงหาสมาธิอื่นใดยิ่งไปกว่าสมาธิแบบนี้อีก

 

                                                                                คุรุอตีศะ
                                                                       ๒๖  มิถุนายน  ๒๕๕๘