ยอมให้เข้าใจผิด

ยอมให้เข้าใจผิด

 

 

 

                     ชีวิตของคนเรา  บางครั้งต้องกล้ายอมให้คนเข้าใจผิดบ้าง  เพราะนั่นคือวิธีเดียวที่จะสามารถทำในสิ่งที่สร้างสรรค์และถูกต้อง  ในขณะที่คนอื่นมองด้วยความไม่เข้าใจ เพราะเขาตามความคิดที่ก้าวหน้าหรือการมองการณ์ไกลไม่ทันในขณะนั้น


                     การยอมให้คนอื่นเข้าใจผิด คือความเข้มแข็งของดวงจิตที่ทรงพลังยิ่งนัก เป็นทั้งขันติความอดทน  เป็นทั้งสมาธิและสติปัญญาอยู่ในตัว  คนที่มีพลังจิตไม่กล้าแข็งพอ  จะไม่สามารถต้านทานและอดทนต่อความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจผิดของผู้คนได้เลย


                    นักปราชญ์  นักวิทยาศาสตร์  หรืออัจฉริยบุคคลของโลกที่มีชื่อเสียงอมตะ  ล้วนแล้วแต่ผ่านความทุกข์ยากและความเข้าใจผิดของผู้คนร่วมยุคร่วมสมัยทั้งสิ้น  กาลิเลโอต้องเสี่ยงต่อชีวิตและความตายเพื่อแลกเอาความถูกต้องในการพิสูจน์ว่าโลกกลม  อันถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงมากในสมัยนั้น ที่บังอาจไปพิสูจน์ในสิ่งที่ค้านกับพระคัมภีร์และคริสตจักรที่มีความเชื่อตลอดมาว่าโลกแบน  และผลแห่งการพากเพียรอดทนของกาลิเลโอ  ได้ส่งผลทำให้หลังจากนั้นโลกก็เข้าสู่ยุคทองของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงนับแต่นั้นมา


                    ประธานาธิบดีอับราฮัม  ลินคอล์น  ก็ต้องอดทนต่อความเข้าใจผิดและเผชิญกับความไม่พอใจของผู้คนในสมัยนั้นที่ลินคอล์นพยายามจะเลิกทาสให้หมดไป  ผู้คนรุ่นบุกเบิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ดีอพยพมาจากอังกฤษและยุโรป ต่างต้องการจะนำเอาชาวพื้นเมืองมาเป็นทาสรับใช้ตามใจปรารถนา  เมื่อลินคอล์นจะมาล้มเลิกระบบทาส  จึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นการสวนกระแสสังคมและเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครกล้าทำแบบนี้มาก่อน  จนทำให้ต้องทำสงครามกลางเมืองอยู่หลายปี  ในที่สุดประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐอเมริกาคือลินคอล์นก็ทำได้สำเร็จ


                    แม้ว่าการเลิกทาสในทวีปอเมริกาจะพบกับความสำเร็จ  แต่ผลพวงจากความเข้าใจผิดที่ศัตรูและประชาชนซึ่งตามความคิดที่ยิ่งใหญ่ของลินคอล์นไม่ทัน  ก็ทำให้ลินคอล์นต้องถูกยิงตายในโรงละครสังเวยความเข้าใจผิดนั้น  อันทำให้ลินคอล์นกลายเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและทรงความเป็นอมตะที่ไม่มีใครเทียบเท่ามาจนทุกวันนี้


                    ในชีวิตของคนเราก็เช่นกัน  เราไม่อาจจะทำให้ใครเข้าใจเราไปทุกขั้นทุกตอนได้  หากเราต้องอธิบายให้ทุกคนมีความคิดเห็นคล้อยตามเราหมดทุกคนเสียก่อน  เราจึงจะตกลงใจทำในสิ่งนั้น  เราจะไม่มีโอกาสทำในสิ่งนั้น  และตลอดชีวิตเราจะไม่มีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีงามไว้ให้แก่โลกใบนี้เลย


                     เมื่อครั้งตัดสินใจเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร   กลับสู่ถิ่นกำเนิดโดยไม่มีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียวเพื่อมาก่อตั้ง “อาศรมเกพลิตา” เมื่อ  ๒๔  มิถุนายน  ๒๕๓๗  ก็มานอนตากฝนไม่มีที่กลางกลด ท่ามกลางป่ารกที่เต็มไปด้วยอสรพิษร้ายท่ามกลางความไม่เข้าใจของใครๆ แม้แต่บิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตัวเอง  การบิณฑบาตวันแรกจึงได้ข้าวสวยเพียงสามช้อน ไม่ได้กับข้าว  เพราะทำในสิ่งที่ใครๆไม่อาจเข้าใจได้สำหรับยุคสมัยเมื่อยี่สิบปีก่อน


                     เป็นการตัดสินใจเดินไปข้างหน้าโดยไม่รู้ว่าข้างหน้าจะได้พบพานกับสิ่งใด จะมีใครบ้างที่เข้าใจหรือจะมีใครมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองมุ่งมั่นกระทำนั้นบ้าง  ก้าวเดินไปอย่างไร้เดียงสา โดยไม่รู้ว่าข้างหน้านั้นจะเป็นความล้มเหลวอย่างที่สุดในชีวิตหรือความสำเร็จกันแน่


                        หากไม่ยอมอดทนและหนักแน่นต่อความรู้สึกคลางแคลง ความเข้าใจผิดในบางอย่าง หรือความไม่เข้าใจของผู้คนในวันนั้น  ก็คงไม่มี”เกพลิตาโพธิวิหาร”ในวันนี้   เราท่านทั้งหลายก็คงไม่มีโอกาสได้พบและรู้จักกัน  คงไม่มีโอกาสมานั่งพิมพ์หนังสือภายใต้แมกไม้และเสียงนกกา  คอยให้ข้อคิดและกำลังใจแก่ผู้คนเช่นนี้


                         ดังนั้น  หากใครก็ตามที่ปรารถนาจะสร้างสรรค์สิ่งดีงามเพื่อเป็นประโยชน์ต่อโลก  สิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่หรือทำให้ใครมารู้จัก  หากสิ่งที่เราอยากสร้างสรรค์และกระทำบำเพ็ญขึ้นมานั้น ไม่ได้เบียดเบียนหรือเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์  ขอให้ดำรงจิตอันเป็นกุศลนั้นให้หนักแน่นมั่นคงไว้  แล้วค่อยๆก้าวไปทีละก้าวตามเจตจำนงอย่างไม่ไหวหวั่นเถิด


                       แม้ว่าในระหว่างที่กำลังก้าวไปนั้น  จะพบหลุมบ่อ ขวากหนาม หรือพลาดล้มลงบ้าง  อันจะทำให้ช้าไปบ้าง  ก็ไม่เป็นไร  เมื่อลุกขึ้นได้ ก็จงก้าวต่อไป  ในที่สุดจุดหมายก็จะเคลื่อนเข้ามาใกล้ชีวิตของเราเอง


                       ในขณะที่ก้าวเดินไป  จงยอมให้ผู้คนไม่เข้าใจบ้าง  ยอมให้ผู้คนเข้าใจผิดบ้าง  บางครั้งก็ต้องยอมให้คนดูถูก ดูหมิ่นบ้าง  เมื่อถึงเวลาที่ผลไม้สุกงอม  ทุกคนจะเข้าใจไปเอง

 

                                                                                    คุรุอตีศะ
                                                                          ๑๒  มิถุนายน  ๒๕๕๘