ใช้ชีวิตของเรา

ใช้ชีวิตของเรา

 

 

 

                ความปีติเบิกบานจะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ใช้ชีวิตที่เป็นตัวเรา   พลังมากมายจะไหลมาสู่ชีวิตโดยไม่ต้องเรียกหา  เมื่อเราได้มีชีวิตที่เป็นตัวเราอย่างแท้จริงและเต็มที่


                ผู้คนมักมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว  อยู่กับความซังกะตายและไร้ชีวิตชีวา  บางคนก็หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวตัวเองจนเกิดอาการซึมเศร้า  เหตุเพียงเพราะไม่กล้าพอที่จะทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ  ทั้งๆที่สิ่งนั้นไม่ได้เบียดเบียนใครหรือเป็นบาปอกุศลแต่อย่างใดเลย


                 บางคนอยากทำอาชีพอิสระ  แต่เพราะไปจนมุมกับค่านิยมของคนรอบข้างอยากให้รับราชการเพื่อจะได้มีอาชีพที่มีรายได้มั่นคงและมีเกียรติ   ก็จำต้องทำงานไปแต่ละวันเพื่อรักษาความมีเกียรติความมีหน้ามีตา  ทั้งๆที่ในใจส่วนลึกก็โหยหาอยากทำอะไรที่ไม่ต้องคอยไปเช็คชื่อให้ตรงเวลาแล้วนั่งโต๊ะประจำตำแหน่งวันแล้ววันเล่าจำเจอยู่เช่นนั้น


                   บางคนอยากแต่งงาน  แต่เพราะมัวไปคำนวณกำไรขาดทุนว่า “การลงทุน”กับบุรุษหรือสตรีผู้นั้นจะขาดทุนหรือไม่  จึงทำให้ความรักที่ดีงามหลุดลอยไป  ได้แต่มานึกเสียใจว่าถ้าตอนนั้นตกลงใจแต่งงาน  ป่านนี้ชีวิตก็คงมีความสุขและสมบูรณ์กว่านี้


                    บางคนรู้อยู่แก่ใจดีว่าตัวเองเหมาะที่จะใช้ชีวิตโสด  แต่ทนต่อกระแสที่ใครๆเขาก็แต่งงานกันไปหมดไม่ไหว  จะเหลือแต่เราคนเดียวก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง   ก็เลยตัดสินใจแต่งงานไปกับเขาด้วยความงงงวยอยู่ในใจ  คนอื่นเขาแต่งงานเขาร่าเริงมีความสุขและสบายใจ  ส่วนตัวเองก็มีแต่ความหมองเศร้า หาความเบิกบานไม่ค่อยได้  เพราะตนเองไม่ได้มีความต้องการทางเพศสูงเหมือนอย่างเขาหรือมีความสมดุลสำหรับชีวิตการครองเรือน  ก็เลยกลายเป็นชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความอับเฉา  ไม่ค่อยมีความสุข แม้จะมีสมบัติพัสถานหรือสิ่งอื่นมากมาย


                     การใช้ชีวิตที่จะทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์  ต้องได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวเรา  จิตรกรที่ภายนอกดูยากไร้  แต่เขามีความสุขกับการวาดภาพอย่างมีสมาธิ  ชนิดที่คนที่เป็นวิศวกรไม่มีทางเข้าใจและอาจนึกดูหมิ่นว่ามัวแต่ทำอะไร  เมื่อไหร่จะร่ำรวย  แต่จิตรกรก็อาจนึกยิ้มอยู่ในใจว่าวิศวกรมัวไปทำงานหาเงินหรือมีโครงการอะไรมากมายอยู่ทำไม  สู้การวาดภาพไม่ได้  เพราะสามารถสร้างความสุนทรีย์ให้แก่โลกและความร่มเย็นทางจิตใจ ที่เงินทองไม่อาจซื้อหาเอาได้


                        บางคนจิตใจละเอียดอ่อนมาก  แต่ไปเป็นนักธุรกิจที่ต้องคิดวางแผน การลงทุน  อยู่ตลอดเวลา  เมื่อทำไปได้สักระยะหนึ่งร่างกายก็ต้องทรุดโทรมป่วยไข้  เพราหัวใจอ่อนโยนและประณีตเกินไปกับการที่ต้องใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และจำต้องอาศัยความโลภเป็นแรงผลักดันเช่นนั้น   อาจประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง  แต่ก็ต้องพบกับความตีบตัน  เพราะเส้นทางที่มุ่งมั่นเดินมานั้น  เป็นเส้นทางที่เหมาะกับคนอื่น  แต่ไม่เหมาะเลยสำหรับตัวเอง


                         ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวให้น่าคิดของฝรั่งบทหนึ่งว่า “คนเรา  ชีวิตจะเริ่มต้นเมื่ออายุ ๔๐” เพราะกว่าแต่ละคนจะค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรอย่างแท้จริง ก็ต้องได้ลองผิดลองถูกหรือผ่านประสบการณ์ของชีวิตมาพอสมควรแล้ว  ใครค้นพบตัวเองได้ตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตไว  ผู้พันแซนเดอร์สแห่งเคเอ็ฟซี กว่าจะค้นพบตัวเองก็อายุตั้ง ๖๕ ปีแล้ว


                         คนที่ค้นพบตัวเองและได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด  พรสวรรค์จะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นจนสามารถทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำไม่ได้   หากชีวิตของเราในปัจจุบันรู้สึกว่ามีพลังแม้ว่าจะยากดีมีจนประการใด  อาจอยู่ในฐานะที่สูงส่งหรือต่ำต้อยก็ได้  แสดงว่าชีวิตของเรากำลังเดินมาถูกทาง


                         การดำเนินชีวิตด้วยสมองฝั่งซ้าย ที่เต็มไปด้วยตรรกะหรือเหตุผลมากเกินไป  จะทำให้เรามีชีวิตคล้ายหุ่นยนต์  จิตใจจะกระด้างเย็นชาไม่ค่อยรู้สึกรู้สากับมนุษย์และคนรอบข้าง  จิตใจจะไร้ความรักและความรู้สึกที่ดีงาม  จงหันมาพัฒนาสมองฝั่งขวาเพื่อให้เกิดความรักความศรัทธาด้วยการเจริญสติและสร้างกุศล  ชีวิตของมนุษย์ยุคใหม่จึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์


                         การพัฒนาสมองฝั่งซ้าย  ทำให้คนเจริญเติบโตหรือก้าวหน้าในทางโลกหรือในทางวัตถุ  แต่หัวใจจะขาดความรักและขาดความสุข แม้จะมีวัตถุสิ่งของหรือเงินทองมากมาย  สมองฝั่งซ้ายใช้ในการหาเหตุผล ชิงไหวชิงพริบ การแข่งขันเอาชนะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


                         นักปราชญ์ผู้ทรงปัญญา  ท่านละทิ้งการสะสมทางวัตถุ  หันมาพัฒนาสมองฝั่งขวา  ใช้ชีวิตที่ประกอบด้วยสติปัญญา  เส้นทางสายนี้นำไปสู่สมาธิ  ความสุขภายในใจ และเป็นเส้นทางไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า  และตลอดมาไม่เคยปรากฏว่ามีใครรู้สึกผิดหวัง ที่ได้เดินบนเส้นทางสายนี้

 

                                                                               คุรุอตีศะ
                                                                      ๗  มิถุนายน  ๒๕๕๘