ปรารภธรรม:ปรัชญาของจีน

ปรัชญาของจีน

 

 

                       “ผู้ปกครองที่ดีที่สุดนั้น   ราษฎรเพียงแต่รู้ว่ามีเขาอยู่ 
                        ที่ดีรองลงมา  ราษฎรรักและยกย่อง  ที่ดีรองลงมาอีก  ราษฎรกลัวเกรง
                        รองลงมาเป็นอันดับสุดท้าย   ราษฎรชิงชัง

 

                       เมื่อผู้ปกครองขาดศรัทธาในเต๋า  
                       ก็มักต้องการให้ประชาชนมาศรัทธาตัวเอง

 

                       แต่สำหรับผู้ปกครองที่ยอดเยี่ยมนั้น
                       เมื่อภารกิจได้สำเร็จลงแล้ว
                       การงานได้ลุล่วงลงแล้ว
                       ราษฎรต่างพากันภาคภูมิใจและกู่ก้องว่า
                       “การงานนั้นล้วนสำเร็จลงด้วยความสามารถของเรา””

 

               ข้อความที่ยกมากล่าวไว้ข้างต้นนั้นคือคำสอนของ “เล่าจื่อ” ว่าด้วยหลักการเป็นนักปกครองที่ดี  คำว่า “เต๋า” ในที่นี้ เทียบความหมายเท่ากับคำว่า “ธรรม” ตามที่เรารู้จักกันอยู่แล้วนั่นเอง


              เล่าจื่อ  มีชีวิตอยู่ประมาณ ๖๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล  ประเทศจีนได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ทางด้านภูมิปัญญาที่ไม่เคยยอมก้มหัวให้ชาติตะวันตกมาได้ตลอด  ก็เพราะอิทธิพลของวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง  ส่วนหนึ่งก็คือปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้งของเล่าจื่อที่ฝังอยู่ในสายเลือดของชาวจีนมาแต่โบราณ


               เล่าจื่อ มีคำสอนไปสู่ความหลุดพ้น สู่ความบริสุทธิ์แห่งจิตวิญญาณ  ส่วนขงจื่อ  จะสอนไปในแนวโลกียวิสัย ให้พอใจแสวงหาความร่ำรวย  เป็นคนดีในสังคม  ให้ได้รับการยกย่องในทางโลก  แต่ชาวจีนส่วนใหญ่จะเข้าใจคำสอนของขงจื่อมากกว่า  ส่วนคำสอนเล่าจื่อนั้นลึกซึ้งยากที่คนธรรมดาจะเข้าใจ


               ดังนั้น  จึงพบว่าคนจีนเก่งเรื่องการทำมาหากินและการแสวงหาความร่ำรวยเสียเป็นส่วนใหญ่  เพราะเมื่ออพยพภัยการเมืองเดินทางมาสู่ประเทศไทย ก็มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ  การก่อร่างสร้างตัวเพื่อความอยู่รอดจึงเป็นเรื่องใหญ่  แล้วก็มุ่งปลูกฝังบุตรหลานในเรื่องการก่อร่างสร้างตัวเป็นหลัก  ไม่มีเวลาสนใจคำสอนปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้งแล้วถ่ายทอดให้แก่บุตรหลาน จึงมีชาวจีนในประเทศไทยจำนวนน้อยมากที่สนใจการหลุดพ้นตามคำสอนเล่าจื่อ จวงจื่อ เลี่ยจื่อ  มักจะสนใจแต่การแสวงหาความร่ำรวยและทำมาค้าขายเสียเป็นส่วนใหญ่ดังที่เห็นกันอยู่โดยทั่วไป


                วันนี้เป็นวันตรุษจีน  จึงถือเอาโอกาสนี้ยกย่องปราชญ์ผู้ล้ำเลิศทางจิตวิญญาณแต่ครั้งโบราณแห่งประเทศจีนคือเล่าจื่อ (เล่าจื๊อ)  ลองย้อนไปอ่านคำสอนของท่านอีกครั้งจะเห็นได้ว่าช่างลึกซึ้งและทรงภูมิปัญญาอันกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก


                 เพียงประโยคแรกที่ว่า “ผู้ปกครองที่ดีที่สุด  ราษฎรเพียงแต่รู้ว่ามีเขาอยู่..”  นี้คือคำสอนที่เล่าจื่อให้ไว้แก่ผู้ปกครองประเทศที่ดี  โดยบอกว่า  ผู้เป็นนักปกครองประเทศที่ดีที่สุดคือการที่ผู้ที่ถูกปกครองอยู่นั้น  พวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกปกครองแต่อย่างใด  เพียงแต่รู้ว่ามีเขาอยู่เท่านั้น   นี้คือความมีเมตตาธรรมกลายเป็นความยุติธรรม  นี้คือคำสอนของอริยะโดยแท้


                 ตามประวัติกล่าวไว้ว่า  เล่าจื่อเป็นปราชญ์ในถิ่นกันดารอันห่างไกล  แม้แต่ขงจื่อ (ขงจื๊อ)ได้ยินกิตติศัพท์ก็ยังยำเกรงและไม่สามารถเข้าใจคำสอนอันลึกซึ้งของเล่าจื่อได้  ในบั้นปลายชีวิตท่านอำลาประเทศจีนทิ้งเหล่าศิษย์ทั้งปวงไว้เบื้องหลัง  โดยขี่หลังควายมุ่งหน้าไปสู่ทิศตะวันตกตามลำพัง เป้าหมายคือภูเขาหิมาลัยประเทศอินเดีย

 
                พอถึงชายแดนก่อนจะผ่านสุดท้ายของแผ่นดินจีน  นายด่านผู้เคยได้ยินกิตติศัพท์ของเล่าจื่อมาก่อน ได้ทำการกักตัวท่านไว้ไม่ยอมให้ผ่าน   โดยมีเงื่อนไขว่าท่านต้องเขียนคำสอนไว้ให้เขาก่อน  เขาจึงจะยอมปล่อยให้ท่านออกจากประเทศจีนไปได้


                 ด้วยความจำนน  เล่าจื่อจึงได้เขียนคำสอนไว้ทั้งหมด ๘๑ บทภายในคืนเดียว แล้วมอบไว้ให้แก่นายด่านตามสนธิสัญญา  นายด่านก็ยอมให้ท่านผ่านด่าน แล้วท่านก็หายตัวไปไม่ปรากฏร่องรอยใดๆอีกเลย  มีแต่คำสอนเพียงไม่กี่บทที่คนรุ่นหลังสืบทอดมาจนทุกวันนี้


                 ศิษย์คนสำคัญที่สืบทอดคำสอนของเล่าจื่อ มีชื่อว่า “จวงจื่อ” (จางจื๊อ)  ท่านจวงจื่อก็เป็นผู้ได้รับการร่ำลือจากผู้คนในยุคสมัยนั้นเป็นอันมาก  จนกระทั่งชูอ๋องส่งคนไปเชิญเพื่อแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดี


                  เมื่อคนสนิทของชูอ๋องไปพบจวงจื่อ  ขณะนั้นจวงจื่อกำลังนั่งอยู่ริมน้ำอย่างสบายอารมณ์  เมื่อได้ฟังคนอ่านเทียบเชิญกระแสพระราชโองการไปเป็นอัครมหาเสนาบดี  จวงจื่อได้พูดขึ้นว่า


                  “มีเต่าศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินนับถือมาก เอาผ้าไหมมาห่อกระดองนำไปไว้ในศาล เพื่อกราบไหว้บูชามาสามพันปี
                   ท่านคิดว่าเป็นการสมควรไหมที่จะเป็นเต่าที่ออกจากกระดองอันศักดิ์สิทธิ์  เข้าไปสิงสถิตอยู่ในศาล  ท่ามกลางกลิ่นธูปควันเทียน  เป็นเวลาสามพันปี  หรือควรที่จะดำรงชีวิตอยู่ตามเดิม  เป็นเต่าธรรมดา กระดิกหางอยู่ตามโคลนตม?!”


                  ขันทีคนสนิทของชูอ๋องตอบว่า “สำหรับเต่า ควรมีชีวิตอยู่ ด้วยการกระดิกหางอยู่กับโคลนตมดีกว่า”


                  จวงจื่อจึงพูดว่า “ถ้าอย่างนั้น  เชิญท่านกลับไปเถิด  ปล่อยให้ข้าพเจ้าได้กระดิกหางอยู่กับโคลนตมตามเดิม”

 
                   คำตอบที่ปฏิเสธตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของจวงจื่อหรือจางจื๊อประโยคนี้  ได้กลายเป็นคำพูดอันเป็นอมตะมาเป็นเวลาถึงสองพันปีจวบจนทุกวันนี้


                   ปรัชญาชีวิตของจีนโบราณตามคำสอนของเล่าจื่อ จวงจื่อ ถือว่าชีวิตในอุดมคติคือชีวิตที่เรียบๆง่ายๆ  ไม่พิถีพิถันปรุงแต่งหรูหราซับซ้อนยุ่งยาก  มีชีวิตด้วยการกลมกลืนสอดคล้องกับธรรมชาติดั้งเดิม


                     เมื่อท่านโพธิธรรมซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ ๒๘  แห่งประเทศอินเดีย  ได้บากบั่นไปประดิษฐานคำสอนดั้งเดิมแท้ของพระพุทธองค์ ณ  ประเทศจีนตามคำสั่งของผู้เป็นอาจารย์  เพราะเล็งเห็นการณ์ไกลด้วยอนาคตังสญาณว่าต่อไปภายหน้าพระพุทธศาสนาจะมีภัยคุกคามครั้งใหญ่และสูญสิ้นไปจากชมพูทวีป  ชาวจีนได้เรียกท่านว่า “ปรมาจารย์ตั๊กม้อ” และถือว่าท่านเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ ๑ ของจีนนับแต่นั้นมา


                      คำสอนของท่านโพธิธรรมหรือปรมาจารย์ตั๊กม้อที่ต้องสอนธรรมะที่แท้จริงดั้งเดิมของพระพุทธองค์กับชาวจีนที่มีพื้นฐานคำสอนของเล่าจื่ออยู่ก่อนแล้ว จึงกลายเป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “สุญญตา”เป็นหลัก   แต่เดิมในประเทศจีนเรียกว่า “ฌาน” แต่เมื่อเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นจึงเรียกว่า “เซน”ตามภาษาญี่ปุ่น


                       ในท้ายที่สุดนี้ ขอจบบทความเนื่องในวันตรุษจีน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ ด้วยคำสอนของจวงจื่อผู้เป็นศิษย์คนสำคัญที่สุดของเล่าจื่อ ว่า

 

                     “มนุษย์ที่แท้แต่โบราณ   สูงตระหง่านแต่มิอาจโค่นล้ม
                       ดูเหมือนขัดสนแต่ไม่ต้องการสิ่งใด
                       สง่างามในความถูกต้องแต่ไม่ดื้อรั้น
                       ยิ่งใหญ่ในความว่างเปล่าแต่ไม่โอ้อวด
                       ยามนุ่มนวลเบิกบานก็แลดูมีความสุข”

 

                     ขอน้อมคารวะต่อปวงปราชญ์ผู้รู้แจ้งชาวจีนแต่โบราณไว้  ณ  ที่นี้ ด้วยความซาบซึ้งในภูมิปัญญาแห่งบรรพกาลชน

 

                                                                                คุรุอตีศะ
                                                                        ๑๙  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๘